SACKITEM แบรนด์กระเป๋าของไทย ที่คืนชีพขยะให้เป็นแฟชั่น จนดังไกลถึงต่างแดน
Business

SACKITEM แบรนด์กระเป๋าของไทย ที่คืนชีพขยะให้เป็นแฟชั่น จนดังไกลถึงต่างแดน

11 ส.ค. 2022
SACKITEM แบรนด์กระเป๋าของไทย ที่คืนชีพขยะให้เป็นแฟชั่น จนดังไกลถึงต่างแดน /โดย ลงทุนเกิร์ล
SACKITEM แบรนด์กระเป๋าเจ้าแรกในไทย ที่เปลี่ยนกระสอบเหลือทิ้ง ให้เป็นกระเป๋าแฟชั่นสุดเท่
ซึ่งแบรนด์สามารถช่วยลดขยะถุงกระสอบ และขยะถุงกระสอบพลาสติก ได้ถึง 4-5 ตันต่อปี
ที่น่าสนใจ คือ ลูกค้ากว่า 90% ของแบรนด์นี้เป็น “ชาวต่างชาติ” ทั้งญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์ และคอสตาริกา
แล้วเรื่องราวของ SACKITEM น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แบรนด์ SACKITEM เกิดขึ้นจากหนึ่งสมอง และสองมือของคุณเฟิส-ธนารักษ์ วรฤทธานนท์ ผู้ที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม และหลงใหลในงานรีไซเคิล
คุณเฟิสเติบโตมากับงานแฟชั่นตั้งแต่เด็ก จากการที่ได้ช่วยคุณพ่อทำแบรนด์เสื้อผ้า ทำให้ธุรกิจแรกเริ่มของเขากลับไม่ใช่กระเป๋า แต่เป็นธุรกิจทำแบรนด์เสื้อผ้า ที่เขาปลุกปั้นมาด้วยตัวเอง
แต่ต่อมาเมื่อธุรกิจเดิมเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ทำให้คุณเฟิสเริ่มมองหาอะไรใหม่ ๆ จนได้มาพบว่าตนเองชื่นชอบแฟชั่นกระเป๋า
แต่กระเป๋าที่คุณเฟิสอยากทำ กลับไม่ธรรมดา ไม่ใช่กระเป๋าหนัง หรือกระเป๋าผ้าใด ๆ แต่เป็นกระเป๋าที่ทำมาจาก “ถุงกระสอบที่ไม่ใช้แล้ว”
โดยคุณเฟิสได้เริ่มลองนำกระสอบเหลือทิ้งจากที่บ้าน มาแปลงโฉมใหม่ เปลี่ยนกระสอบเก่า ๆ ให้กลายเป็นกระเป๋าแบ็กแพ็ก ด้วยวิธีการอัปไซเคิล
สำหรับในแง่ธุรกิจ
การอัปไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ที่กำลังจะกลายเป็นขยะวิธีหนึ่ง
แต่หากมองในแง่ของสิ่งแวดล้อม
การผลิตแบบอัปไซเคิล ถือเป็นการปรับรูปแบบ การทำธุรกิจแบบใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) ให้มาเป็นธุรกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กลับเข้าสู่วงจรการใช้งานอีกครั้ง เพื่อลดขยะจากอุตสาหกรรมในการผลิต
พอเป็นแบบนี้ จึงกลายเป็นไอเดียที่น่าสนใจสำหรับคุณเฟิส ในการเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่ กับกระเป๋าแนวรักษ์โลก ซึ่งต่อมาในปี 2009 แบรนด์ SACKITEM จึงได้เกิดขึ้น
โดยวัสดุหลักที่ทางแบรนด์เลือกใช้ ได้แก่
กระสอบเม็ดพลาสติก
รองลงมาเป็นกระสอบข้าว
และกระสอบอาหารสัตว์เหลือทิ้ง ที่ไปรับมาจากในโรงงานผลิตกระสอบ และโรงงานรีไซเคิลขยะ
เนื่องจากกระสอบเหล่านี้ เป็นวัสดุที่มีความคงทน และรองรับน้ำหนักได้มาก จึงเหมาะกับการนำมาทำเป็นกระเป๋าบรรจุสัมภาระต่าง ๆ
ซึ่งถ้าหากกระสอบพลาสติกเหล่านี้ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกหลอม ให้เป็นพลาสติกเกรดต่ำราคาถูก ซึ่งคุณเฟิสมองว่า การนำไปทำเป็นกระเป๋า จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของฟังก์ชันกระเป๋ากระสอบที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น สามารถตอบโจทย์การใช้งาน และรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
แต่ในแง่ของมุมมองต่อสินค้า ที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่ากระเป๋าชิ้นนี้ ไม่ได้ทำมาจากขยะ จุดนี้จึงกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของแบรนด์
พอเป็นแบบนี้ คุณเฟิสจึงพยายามลบภาพจำของขยะ ด้วยการทำความสะอาด ตัด เย็บ และขึ้นรูปอย่างประณีต เพิ่มเติมเสริมดีไซน์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีที่สุด
มากไปกว่านั้น ทางแบรนด์ยังตั้งใจต่อรูป และขึ้นลวดลาย เพื่อให้กระเป๋าแต่ละใบ มีสไตล์อันโดดเด่น และมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกัน
กลายเป็นอีกหนึ่งกิมมิกของแบรนด์ ที่ชวนให้ลูกค้าอยากจับจองเป็นเจ้าของกระเป๋า ที่มีแค่ใบเดียวในโลกเท่านั้น
ซึ่งนอกเหนือจากสินค้าของ SACKITEM ที่มีความโดดเด่นในแง่ของงานดีไซน์ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมแล้ว
ทางแบรนด์ยังส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกระบวนการผลิตและการตัดเย็บสินค้า เพื่อเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กระจายไปสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่ใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมเลยทีเดียว
โดยปัจจุบันสินค้าของ SACKITEM มีช่องทางการจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์ และคอสตาริกา
ซึ่งกลุ่มลูกค้ากว่า 90% ของ SACKITEM จัดเป็นชาวต่างชาติ ที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะชื่นชอบความเป็นสินค้าอัปไซเคิล ที่ช่วยลดปริมาณขยะและรักษ์โลก ประกอบกับงานดีไซน์ ที่สะดุดตาไม่เหมือนใคร
ทำให้ SACKITEM จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่ทำให้โลกได้รู้ว่าผลงานของ “แบรนด์ไทย” นั้นก็มีดีสมกับคุณภาพเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ SACKITEM ในวันนี้อาจไม่ใช่การทำกำไรให้ได้เป็นกอบเป็นกำ..
แต่กลับเป็นความต้องการ ในการสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับผู้คนในสังคม ให้ได้กล้าลอง กล้าใช้ และกล้าถือขยะ ในรูปแบบของแฟชั่นให้มากขึ้นกว่าที่เป็นในวันนี้..
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของ SACKITEM ธุรกิจกระเป๋ารักษ์โลก ที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้กับขยะ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ขยะ” ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็น “ทรัพยากร” ได้
ขอเพียงแค่เรามองเห็นคุณค่า และพยายามนำทรัพยากรเหล่านั้น กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่เราจะทิ้งมันไป..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.