Fat Lane 17 เจ้าของผลงาน ของเล่นสะสมล้อเลียน ที่กำลังเป็นกระแส
Business

Fat Lane 17 เจ้าของผลงาน ของเล่นสะสมล้อเลียน ที่กำลังเป็นกระแส

20 ก.ค. 2022
Fat Lane 17 เจ้าของผลงาน ของเล่นสะสมล้อเลียน ที่กำลังเป็นกระแส /โดย ลงทุนเกิร์ล
เพียงแค่ดูหน้าปกบทความ เราคงเห็นแล้วว่าของเล่นสะสมจากแบรนด์ Fat Lane 17 มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Fat Lane 17 ถึงไอเดียการนำกระแสสังคมของไทย มาสร้างสรรค์เป็นผลงานของเล่นสะสมได้อย่างลงตัว
เรื่องราวของ Fat Lane 17 น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Fat Lane 17 คือ การรวมตัวกันของกลุ่มศิลปิน ที่รักในการสร้างสรรค์ผลงานของเล่นสะสม
ซึ่งความหมายของ “Fat Lane 17” มาจากการประกอบกันของ คำว่า
“Fat” ที่แปลตรงตัวว่า ไขมัน ซึ่งก็มีทั้งแบบดีและไม่ดี
ส่วนคำว่า “Lane” แปลว่า เส้นทาง
และตัวเลข 17 คือ วันปล่อยสินค้าคอลเลกชันแรก
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสื่อว่า ผลงานของพวกเขา ก็เป็นเหมือนเส้นทางเล็ก ๆ ที่ส่งต่อไขมันที่มีทั้ง “ดี” และ “ไม่ดี” แล้วให้ผู้ที่เสพงานศิลปะของพวกเขาเป็นคนตัดสินนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ พวกเขาเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตน เพราะอยากให้คนเสพผลงาน โดยโฟกัสที่ตัวงานมากกว่าบุคคลที่สร้างสรรค์งานขึ้นมา
โดยจุดเด่นของเล่นสะสม ของแบรนด์ Fat Lane 17 ก็คือ การนำเรื่องราวที่เป็นกระแสรอบ ๆ ตัว มาสร้างเป็นของเล่นสะสม ที่ชวนให้ยิ้ม แต่แฝงไปด้วยความหมาย และผสมผสานความสวยงามเชิงศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว
ที่สำคัญคือ ดูเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม
ซึ่งจุดเริ่มต้นเรื่องราวของแบรนด์ Fat Lane 17 ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่หลาย ๆ ธุรกิจประสบปัญหาจากวิกฤติโรคระบาด แต่สำหรับธุรกิจของเล่นสะสมกลับมีกระแสที่สวนทาง และได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะของเล่นสะสมของศิลปินไทย
เนื่องจากผลพวงจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้ชาวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาทำการค้าในประเทศไทยได้สะดวก ทำให้แบรนด์ของเล่นสะสมจากต่างชาติค่อย ๆ ทยอยถอนกำลังออกไป แต่ความต้องการสินค้าของนักสะสมในไทยยังมีเท่าเดิม
ดังนั้นวิกฤติในครั้งนี้ จึงส่งผลดีกับศิลปินผู้ผลิตของเล่นสะสมในประเทศไทย ที่สามารถเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคนไทย และขยายตลาดในประเทศตัวเองได้
ซึ่ง Fat Lane 17 ก็เป็นหนึ่งในนักผลิตของเล่นสะสมมือใหม่ ที่เห็นช่องว่างของธุรกิจนี้ และพร้อมที่จะกระโจนเข้าไปลงเล่นในตลาด
แต่ก็ไม่ได้มีแค่ Fat Lane 17 เท่านั้นที่เห็นโอกาสนี้
เพราะจำนวนศิลปินผู้ผลิตของเล่นสะสมในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น หากสินค้าของพวกเขาไม่แตกต่าง ก็อาจจะไม่สามารถยืนอยู่ในตลาดนี้ได้
ซึ่งจุดเด่นที่พวกเขาเลือกนำมาใส่ในผลงาน ก็คือ สไตล์งาน “Parody” หรือที่เรียกว่า “งานล้อเลียน”
โดยผลงานจะไม่ถูกล้อเลียนออกมาโดยตรง แต่จะหยิบยกประเด็น หรือจุดเด่นของสิ่งที่อ้างอิง มาเป็นไอเดียในการต่อยอดผลงาน
เมื่อได้ไอเดียที่มีโอกาสในธุรกิจแล้ว ทีมงานจึงได้รวมตัวกัน ก่อตั้งแบรนด์ Fat Lane 17 ขึ้น
และได้ผลิตผลงานชิ้นแรกออกมาในชื่อคอลเลกชัน “The Uncle Stones” เพื่อทดลองตลาดก่อน ว่าจะสามารถอยู่รอดในวงการนี้ได้หรือไม่
ผลปรากฏว่า สินค้าชิ้นนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยสินค้าหมดตั้งแต่นาทีแรกที่เปิดจอง เนื่องด้วยคุณภาพของชิ้นงาน และไอเดียที่โดดเด่นกว่าผู้เล่นรายอื่นในตลาด
หลังจากออกผลงานชิ้นแรก ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาผลิตผลงานชิ้นต่อไป จนกลายมาเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น Fat Lane 17 ยังเพิ่มไลน์สินค้าที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับสากลได้มากขึ้น แต่ยังคงสไตล์งานล้อเลียนที่เป็นซิกเนเชอร์ของแบรนด์เอาไว้
เช่น “The New iWizard” ที่เพียงแค่เรามองดีไซน์ของสินค้า ก็คงเดาได้ไม่ยาก ว่าแรงบันดาลใจมาจากแบรนด์ดังแห่งวงการเทคโนโลยี หรือ “HappyThief” ที่หน้าตาคล้ายกับแมสคอต ของแบรนด์ฟาสต์ฟูดรายใหญ่
ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ Fat Lane 17 สามารถจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติได้มากขึ้น เช่น จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา และโซนยุโรป
ที่น่าสนใจคือ แบรนด์ Fat Lane 17 ยังสร้างความเอกซ์คลูซิฟ ด้วยการที่สินค้าทุกชิ้น จะเป็นแบบพรีออร์เดอร์ โดยจะผลิตขึ้นมาในจำนวนจำกัด ตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า การออกแบบสินค้าเชิงล้อเลียน เป็นเรื่องที่ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
จริง ๆ แล้ว ตัวแครักเตอร์ที่ Fat Lane 17 หยิบยกขึ้นมา ก็เปรียบเสมือน “ตัวละครสมมติ” ที่นำจุดเด่นของบุคคล, ตัวการ์ตูน และแครักเตอร์ที่อ้างอิง มาใส่มุมมองของตัวเองลงไปในการสร้างสรรค์ผลงาน
ดังนั้น ผลงานของ Fat Lane 17 จึงไม่ได้ล่วงละเมิดถึงสิทธิของสิ่งที่นำมาอ้างอิง
รวมทั้ง Parody ยังเป็นสิ่งที่ได้รับข้อยกเว้นตามกฎหมายลิขสิทธิ์ หากเป็นการสร้างสรรค์เชิงล้อเลียนเพื่อความตลกขบขัน
รวมถึงองค์ประกอบของดีไซน์, รูปร่าง, สีสัน และรายละเอียดของผลงานทั้งหมด ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้คนนึกถึงแหล่งอ้างอิงที่ศิลปินนำมาสร้างสรรค์
โดยไม่ได้กระทำในระดับที่ก้าวก่ายและล่วงละเมิดสิทธิทางกฎหมาย เช่น การทำซ้ำ หรือการดัดแปลง
อย่างไรก็ตาม งานดีไซน์แต่ละชิ้น ก็มีการวางขอบข่ายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการสร้างสรรค์ผลงานล้อเลียน ก็ต้องศึกษาแหล่งอ้างอิงให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
และนี่คือเรื่องราวของแบรนด์ Fat Lane 17 ที่เริ่มต้นธุรกิจจากความกล้า กล้าที่จะคิด และสร้างสรรค์ผลงาน สู่ธุรกิจของเล่นสะสมที่ใคร ๆ ก็อยากมีตั้งไว้ในตู้โชว์
References:
สัมภาษณ์โดยตรงกับผู้ก่อตั้งแบรนด์ Fat Lane 17
-https://so05.tci-thaijo.org/index.php/lawjournal/article/view/247136/169005
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.