With Jéan แบรนด์เสื้อผ้า ที่ใช้กลยุทธ์รักษ์โลก แต่ขายหมด ในไม่กี่นาที
Business

With Jéan แบรนด์เสื้อผ้า ที่ใช้กลยุทธ์รักษ์โลก แต่ขายหมด ในไม่กี่นาที

20 มิ.ย. 2022
With Jéan แบรนด์เสื้อผ้า ที่ใช้กลยุทธ์รักษ์โลก แต่ขายหมด ในไม่กี่นาที /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่คะว่า With Jéan แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงจากออสเตรเลีย โด่งดังจนถึงขนาดที่มีเซเลบหลายคนหยิบมาสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นคุณ Bella Hadid, คุณ Jenna Dewan, คุณ Lily-Rose Depp และคุณ Emily Ratajkowski
นอกจากนี้ ล่าสุดทางนิตยสาร Forbes ยังได้จัดอันดับให้ สองผู้ก่อตั้งจาก With Jéan เป็น 1 ใน “30 Under 30 Asia” หรือก็คือ สุดยอดผู้นำแห่งเอเชีย ที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี ในสาขาศิลปะ
เพราะไม่เพียงแค่ With Jéan จะมีดีที่การออกแบบแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แบรนด์โด่งดัง ก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” และ “จรรยาบรรณทางธุรกิจ”
แล้วแบรนด์ With Jéan น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันแบรนด์ With Jéan เดินทางเข้าสู่ปีที่ 5
ซึ่งนำโดยสองเพื่อนซี้ชาวออสเตรเลีย วัย 29 ปี อย่างคุณ Sami Lorking-Tanner และคุณ Evangeline Titilas
โดยโมเดลธุรกิจของ With Jéan จะเป็นการขายสินค้าผ่านช่องทาง “ออนไลน์” เท่านั้น และถึงแม้จะไร้หน้าร้าน แต่สินค้าทุกคอลเลกชันก็มักจะขายหมด ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า With Jéan ชูโรงเรื่องแฟชั่นและความยั่งยืน ซึ่งความคิดนี้ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่วันแรกที่พวกเธอเริ่มทำธุรกิจ
เนื่องจากทั้งคู่ เรียกตัวเองว่าเป็น “Conscious Consumers” หรือ “กลุ่มผู้บริโภคที่มีสติ”
ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริโภคแบบใหม่ จะมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนซื้อสินค้า หรือบริโภคอะไร
โดย Conscious Consumers จะเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะคำนึงถึงแหล่งที่มาของสินค้า และขั้นตอนการผลิต
ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจพวกเธอจึงตัดสินใจบินไปยังบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเฟ้นหาช่างฝีมือ เพื่อมาผลิตเสื้อตามที่พวกเธอต้องการ
ซึ่งทุกขั้นตอนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมจากคุณ Titilas เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของแบรนด์
โดยหลังจากสินค้าคอลเลกชันแรกถูกวางขายผ่านช่องทางออนไลน์ สินค้าก็หมดภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที รวมถึงมีรายชื่อรอคิวจองสินค้ามากกว่า 1,000 คน
แล้วการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมของ With Jéan ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?
1.เลือกโรงงานที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน
แม้ปัจจุบันแบรนด์ With Jéan จะไม่ได้ผลิตสินค้าจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว และหันมาผลิตสินค้ากับประเทศจีนก็ตาม แต่สินค้าทุกชิ้นก็ยังถูกผลิตออกมาอย่างมีจริยธรรม
โดยทางแบรนด์จะเลือกโรงงานที่มีมาตรฐาน และไม่ผลิตกับโรงงานที่ไม่รู้แหล่งที่มาของวัสดุ รวมทั้งโรงงานนั้นจะต้องมีความยุติธรรมต่อแรงงานด้วยเช่นกัน
2.ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
ผ้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ล้วนผลิตมาจากเส้นใยธรรมชาติ และหากมีเศษผ้าเหลือใช้ ก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ผ้าโพกหัว หรือที่คาดผม
และหากเราลองดูรายละเอียดเสื้อผ้าของ With Jéan จะพบว่ามีการใช้พลาสติกน้อยมาก โดยแบรนด์จะเน้นการใช้ยางยืด และกระดุมเหล็กแทน รวมถึงแพ็กเกจจิงก็ทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายเองได้
3.ไม่ผลิตสินค้าจำนวนมาก
แบรนด์เลือกที่จะไม่เดินตามปฏิทินการออกสินค้า เหมือนแบรนด์แฟชั่นทั่วไป โดย With Jéan จะออกสินค้าประมาณ 6-7 ครั้ง ซึ่งรวม ๆ แล้ว จะมีสินค้าใหม่ราว 10-15 แบบต่อปี
เพื่อที่จะไม่ให้มีการผลิตสินค้ามากเกินความจำเป็น จนสินค้าเหลือค้างสต็อก และยังช่วยลดขั้นตอนการผลิตที่มีส่วนไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ทาง With Jéan ก็จะไม่มีการกำหนดเดดไลน์ในการผลิตที่เร่งรีบ เนื่องจากต้องการให้ทีมช่างไม่รู้สึกกดดัน และยังจ้างช่างฝีมือจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ใครทำงานหนักเกินไป
นอกจากประเด็นเรื่องจริยธรรมแล้ว With Jéan ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
อย่างเมื่อต้นปี 2021 With Jéan ก็ได้บริจาคเงินให้กับ Red Cross Australian Bushfire Relief เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่าในออสเตรเลีย ด้วยการระดมเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท ภายในเวลา 48 ชั่วโมง
หรือการออกแคมเปญกับคอลเลกชันพิเศษ สำหรับ วันคุ้มครองโลก ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ด้วยการปลูกต้นไม้ 10 ต้น ในทุก ๆ การซื้อเสื้อยืด 1 ตัว
เรียกได้ว่า เทรนด์รักษ์โลก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคเริ่มยอมจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างหลาย ๆ แบรนด์ใหญ่ ก็หันมาผลิตสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวกันมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
เช่น IKEA ออกเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากสินค้ารีไซเคิล รวมถึงรับซื้อเฟอร์นิเจอร์และอะไหล่สินค้าเก่า หรือ H&M ที่มีการพัฒนานวัตกรรมที่ผลิตเสื้อผ้าจากการรีไซเคิล และวัสดุรีไซเคิล
อย่างไรก็ตาม ในทางฝั่งผู้บริโภคเอง ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนของแบรนด์จริง ๆ หรือไม่
เพราะก็มีบางแบรนด์ที่ใช้คำว่า “สิ่งแวดล้อม” มาเป็นเพียง “การตลาด” เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่จริง ๆ แล้ว สินค้ากลับมีจุดที่เป็นมิตรต่อโลกเพียงแค่ฉากหน้าเท่านั้น..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.