เสื้อผ้าดิจิทัล ใส่ไม่ได้จริง แต่ทำไมเป็นเทรนด์แฟชั่น แห่งอนาคต
Business

เสื้อผ้าดิจิทัล ใส่ไม่ได้จริง แต่ทำไมเป็นเทรนด์แฟชั่น แห่งอนาคต

5 มี.ค. 2022
เสื้อผ้าดิจิทัล ใส่ไม่ได้จริง แต่ทำไมเป็นเทรนด์แฟชั่น แห่งอนาคต /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปัจจุบัน การซื้อชุดที่ใส่ไม่ได้จริง ในราคา “หลักแสน” อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
และที่สำคัญ เรื่องนี้กำลังเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่หลาย ๆ บริษัทมองว่า จะมาแทนที่อุตสาหกรรม Fast Fashion
ทำไมธุรกิจเสื้อผ้าดิจิทัลถึงน่าสนใจ ?
แล้วตลาดนี้จะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้หรือไม่ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ถ้าหากพูดถึงการแต่งตัวในโลกออนไลน์ หลายคนอาจจะนึกถึง การแต่งตัวให้ตัวละครในเกม
แม้ว่า “สกิน” หรือ “เสื้อผ้า” ที่เราใส่ให้ตัวละครในเกม จะไม่ได้ช่วยให้ตัวละครของเราเก่งขึ้น
แต่ถ้าหากว่ามันทำให้ตัวละครของเราสวยขึ้น ก็มีคนที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสิ่งนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และหลาย ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น
จากเดิมที่คำว่า Metaverse, Blockchain, NFTs หรือ Web 3.0 อาจรู้จักกันในกลุ่มเล็ก ๆ ก็กลายเป็นคำที่ใคร ๆ ก็พูดถึง
และกลายเป็นว่า “สังคมในโลกออนไลน์” ก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นด้วย
ส่งผลให้หลายบริษัทที่จับเทรนด์ได้ก่อน เริ่มทำธุรกิจที่ในอดีตบางคนอาจยังไม่เข้าใจในขณะนั้น
อย่าง The Fabricant บริษัทที่ให้บริการด้านแฟชั่นดิจิทัล ก็ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2018 หรือ
Carlings บริษัทค้าปลีกสินค้าผ้ายีน ก็หันมาผลิตเสื้อผ้าดิจิทัลเป็นเจ้าแรก ๆ ในปี 2019
และ DressX แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสเสื้อผ้าดิจิทัล ที่ก่อตั้งในปี 2020
ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ Facebook จะประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Meta ในปี 2021 จนทำให้คำว่า “Metaverse” เข้าไปอยู่ในวิสัยทัศน์ของหลาย ๆ บริษัท
นอกจากนั้น ในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง ก็เริ่มเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
อย่างโซเชียลมีเดีย ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมแบบ “ซื้อ-โพสต์-คืน”
หรือก็คือ ลูกค้าซื้อสินค้า และนำไปใส่ถ่ายรูปแบบไม่แกะป้าย ก่อนจะนำสินค้าไปคืนที่ร้าน
จากเรื่องนี้ทำให้แบรนด์ชื่อ More Dash ทดลองพฤติกรรมของลูกค้า ด้วยการเปิดร้านแบบพ็อปอัป เป็นสตูดิโอให้คนเข้ามาใส่เสื้อ แล้วถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เพื่อสร้างคอนเทนต์ในราคา 300 บาท
โดยบริษัทให้มุมมองว่า “ลูกค้าไม่ได้อยากได้เสื้อผ้า แต่อยากได้คอนเทนต์สำหรับลงบนโซเชียล” ซึ่งก็มีลูกค้าที่ให้ความสนใจไม่น้อย
ประกอบกับเรื่อง ปัญหาของอุตสาหกรรม Fast Fashion ในปัจจุบัน ที่เน้นการผลิตจำนวนมาก ๆ ใช้วัสดุที่อาจไม่ได้ดีมาก แต่ราคาถูกและออกสินค้าได้รวดเร็ว
ก็ได้ทิ้งภาระอันหนักอึ้งให้กับโลกของเรา เช่น มลพิษจากการผลิต, ขยะแฟชั่น รวมถึงปัญหาการกดขี่แรงงาน
ดังนั้น เมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน
“เสื้อผ้าดิจิทัล” จึงกลายเป็นทางออก ในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิต แถมยังตอบโจทย์ลูกค้า ที่ต้องการเพียงแค่รูปถ่ายลงในโซเชียลมีเดียด้วย
ที่สำคัญ ด้วยพฤติกรรมมนุษย์ที่เริ่มหันมาสนใจการสร้างตัวตน หรือสร้างภาพลักษณ์มากขึ้น
เสื้อผ้าดิจิทัล ก็น่าจะช่วยขยายกรอบความคิดสร้างสรรค์ด้านการดีไซน์ และทำลายกำแพงต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเสื้อผ้าที่ต้องสวมใส่จริง
เช่น เดรสที่มีไฟลุกตรงปลายกระโปรง หรือชุดที่มีแถบข้อมูลสีเขียวลอยออกมา เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเริ่มสงสัยว่า เสื้อผ้าดิจิทัล กับ NFT ที่เป็นเหมือนงานศิลปะในวงการบล็อกเชนหรือคริปโทฯ คือสิ่งเดียวกันหรือไม่
คำตอบคือ มี NFT ที่เป็นเสื้อผ้าดิจิทัล
แต่เสื้อผ้าดิจิทัลทุกตัว ก็ไม่ใช่ NFT เสมอไป
เนื่องจาก NFT หรือ ​​Non Fungible Token แปลเป็นไทยว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว”
ทำให้ NFT นั้นแตกต่างจากการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วไป ตรงที่ข้อมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะถูกบันทึกลงในเครือข่ายที่เรียกว่า Blockchain ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถถูกแก้ไขได้
และ NFT ที่ว่านี้จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะรูปถ่าย วิดีโอ คลิปเสียง รวมถึงเสื้อผ้าดิจิทัล
ตัวอย่าง NFT ที่เป็นเสื้อผ้าดิจิทัล เช่น คอลเลกชัน Collezione Genesi ของแบรนด์ Dolce & Gabbana ที่มีทั้งหมด 9 ชิ้น เป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่วางขายบนแพลตฟอร์ม UNXD ซึ่งปัจจุบันทุกชิ้นมีเจ้าของเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 180 ล้านบาท
ส่วนเสื้อผ้าดิจิทัลที่ไม่ใช่ NFT จะเป็นเหมือนกับสินค้าทั่วไป ไม่ต่างจากการซื้อเสื้อผ้าตามร้าน มีทั้งแบบเป็น AR, แบบที่สวมใส่ให้กับอวทาร์ หรือตัวแทนของเราในโลกเสมือน รวมถึงแบบอื่น ๆ
เช่น แบรนด์ Tribute ที่ลูกค้าสามารถเลือกแบบชุดที่ต้องการ และส่งรูปถ่ายของตัวเองไปให้ทางแบรนด์
หลังจากนั้นแบรนด์จะตัดต่อรูปของเรา ให้สวมเสื้อที่เราทำการสั่งซื้อไป
อีกส่วนที่ทำให้เสื้อผ้าดิจิทัลทั่วไปกับ NFT ต่างกัน
ก็คือ NFT ถือเป็นสินทรัพย์รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาขายต่อ หรือเก็งกำไรได้ ไม่ต่างจากของสะสมในโลกความจริง
แต่เสื้อดิจิทัลธรรมดาบางประเภท อาจไม่สามารถขายต่อได้ เพราะสิ่งที่เราได้ คือ “รูปภาพเราใส่เสื้อ”
ซึ่งเป็นไปตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า ลูกค้าต้องการแค่คอนเทนต์ ไม่ได้ต้องการเสื้อผ้าจริง ๆ
แล้วกลุ่มเป้าหมายของสินค้าแฟชั่นดิจิทัลคือใคร ?
เรื่องนี้คุณ Michaela Larosse นักกลยุทธ์จากบริษัท The Fabricant มองว่า กลุ่มเป้าหมายหลัก ก็คือ “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะคน Gen Z ที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์
และให้ความสำคัญกับชีวิตทั้งสองด้านใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์
จะยิ่งให้ความสำคัญกับการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์มากกว่าปกติ
แม้ว่า “เสื้อผ้าจริง” จะเป็นธุรกิจที่นับเป็นหนึ่งใน “ปัจจัยสี่” ที่ไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ก็ต้องใส่ และคงไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ง่าย ๆ
แต่ “เสื้อผ้าดิจิทัล” ก็เป็นอีกทางเลือกของลูกค้า
ที่อยากจะตามเทรนด์ แต่ไม่อยากจะทำลายโลก
และก็ไม่แน่ว่าในอนาคต เมื่อสัดส่วนการใช้ชีวิตระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนเปลี่ยนไป
ตู้เสื้อผ้าของเรา ก็อาจมี “เสื้อผ้าดิจิทัล” มากกว่า “เสื้อผ้าจริง” ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.