Business
Kiss of Beauty จากพนักงานประจำ สู่ ผู้ปั้นแบรนด์ความงามร้อยล้าน
28 ม.ค. 2022
Kiss of Beauty จากพนักงานประจำ สู่ ผู้ปั้นแบรนด์ความงามร้อยล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
สำหรับพนักงานประจำ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยมีความคิดที่อยากจะหาอะไรมาขาย เพื่อเป็นรายได้เสริม แต่จะมีสักกี่คน ที่สามารถทำให้ “งานเสริม” กลายเป็น “งานหลัก” จนลาออกจากงานประจำได้
วันนี้ลงทุนเกิร์ล ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณบีม-กิตติพนธ์ นามพิชญ์ธนสิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Kiss of Beauty จนสามารถผันตัวจากการเป็นลูกจ้าง สู่การเป็นนายของตัวเอง อย่างฝันของใครหลาย ๆ คน
กว่าจะมาถึงจุดนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ?
แล้วการเป็นเจ้าของธุรกิจจะเหมือนภาพในฝันของเราหรือไม่ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แล้วการเป็นเจ้าของธุรกิจจะเหมือนภาพในฝันของเราหรือไม่ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Kiss of Beauty ก่อตั้งโดย คุณกิตติพนธ์ นามพิชญ์ธนสิน และคุณฐิติพรรณ ภัควัฒน์ธเนศ ซึ่งเดิมทีทั้งสองก็ทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่มั่นคง
แต่คุณกิตติพนธ์ และคุณฐิติพรรณ ก็เป็นเหมือนคนทั่วไป ที่มองหาโอกาสสร้างรายได้เสริม ซึ่งในช่วงปลายปี 2555 นั่นเอง ก็เป็นช่วงแรก ๆ ที่เริ่มมีคนมาขายของผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
ดังนั้น พวกเขาจึงได้เริ่มมองหาสินค้าที่จะมาขายบ้าง และก็ได้ผลิตภัณฑ์แรกเป็น Whitening Collagen Cream Mask ภายใต้แบรนด์ Kiss Skincare โดยสั่งผลิตจากโรงงาน 700 กระปุก ห่อด้วยพลาสติกไม่ได้มีกล่องอะไร และเริ่มขายให้กับคนรู้จักก่อน
ทำไมถึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทครีมมาสก์ ?
แม้ว่าคุณกิตติพนธ์จะไม่มีความรู้ด้านสกินแคร์มาก่อน แต่เพราะเคยมีประสบการณ์ในฝ่ายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจอาหาร จึงนำตรรกะการพัฒนาสินค้ามาใช้ เริ่มตั้งแต่การทดลอง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทำออกมาหลาย ๆ แบบแล้วมาหาว่าตัวไหนคือทางเลือกที่ดีที่สุด
อย่างตอนที่ตัดสินใจว่าจะออกสินค้าแรกเป็น “ครีมมาสก์” ก็เพราะมองว่า ถ้าจะขายครีมมอยส์เชอไรเซอร์ที่คนนิยมใช้ ก็คงไม่มีช่องว่างให้กับแบรนด์น้องใหม่ ที่ไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นแทนที่จะไปแย่งส่วนแบ่งจากคนอื่น จึงเปลี่ยนมาเป็นสินค้าตัวเสริม ที่ลูกค้าสามารถใช้เพิ่มเติมจากสิ่งที่ใช้อยู่แล้ว
ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ สินค้าล็อตแรกก็ขายหมด คุณกิตติพนธ์จึงเพิ่มจำนวนการผลิต และยังได้ลูกค้าที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก จนมีคนมาขอเป็นตัวแทน ทำให้เครือข่ายเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2556 คุณกิตติพนธ์ก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาโฟกัสกับ Kiss Skincare อย่างเต็มตัว ซึ่งในปีแรกของการเปิดขาย แบรนด์ก็สามารถปิดยอดขายได้ถึงหลักสิบล้านบาทเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2557 ก็ยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัว แถมยังมีตัวแทนจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา ทั้งจีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
โดยในตอนนั้น Kiss Skincare ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น Malissa Kiss แล้ว ต้องการที่จะขยายช่องทางจัดจำหน่ายจากออนไลน์ สู่ช่องทางหลักทั่วประเทศ คุณกิตติพนธ์จึงเริ่มลงทุนพัฒนาสินค้ามากขึ้น และนำผลิตภัณฑ์ไปวางขายในโมเดิร์นเทรด ซึ่งก็อาศัยประสบการณ์จากตอนเป็นพนักงานบริษัท ที่ดูแลเรื่องการขายผ่านโมเดิร์นเทรดอยู่แล้ว
ดังนั้น จากที่เคยขายออนไลน์เป็นหลัก จึงกลายมาเป็นบริษัทที่มียอดขายจากหน้าร้านกว่า 90%
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทุกอย่างดูจะเต็มไปด้วยความสำเร็จ ธุรกิจของคุณกิตติพนธ์ก็ต้องสะดุด จนยอดขายของแบรนด์ในปี 2558 และปี 2559 ตกลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือลดหายไปกว่าครึ่ง
ซ้ำร้ายคุณกิตติพนธ์กลับไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน เพราะเขาเล่าว่า ในปี 2557 ทุกอย่างเหมือน “ถูกหวย” ซึ่งมาจากเวลาที่พอเหมาะพอดี และเป็นเทรนด์ขาขึ้นของธุรกิจประเภทนี้ ทำให้ไม่ว่าจะออกสินค้าอะไรก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนแม้แต่ตัวเจ้าของเองก็ยังตกใจ
ซึ่งพอไม่รู้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากอะไร
เมื่อเจอปัญหา จึงไม่รู้ว่าจะต้องแก้ที่จุดไหน เช่นเดียวกัน
เมื่อเจอปัญหา จึงไม่รู้ว่าจะต้องแก้ที่จุดไหน เช่นเดียวกัน
แต่ด้วยความที่บริษัทเติบโตจนมีพนักงานนับร้อยชีวิต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณกิตติพนธ์ เรื่องนี้จึงทำให้เขายอมแพ้ไม่ได้
สุดท้าย จึงตระหนักได้ว่าความผิดพลาดมาจาก การที่นำเอาสิ่งที่บริษัทใหญ่ ๆ ทำแล้วประสบความสำเร็จมาใช้กับธุรกิจของตัวเอง เช่น ในด้านการออกสินค้า ที่เราคิดว่าจะต้องออกสินค้าเป็นกลุ่มให้ครบทั้งไลน์การดูแลผิวเหมือนเคาน์เตอร์แบรนด์ แต่จริง ๆ ลูกค้าเราอาจไม่ได้ต้องการแบบนั้นก็ได้
ดังนั้น สิ่งที่คุณกิตติพนธ์ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ จึงทำให้เวลารับฟังคำแนะนำมา หรือตั้งต้นจะทำอะไร ก็มักจะเริ่มต้นด้วยคำถาม “Why” อยู่หลาย ๆ ครั้ง
ทำไมถึงต้องทำแบบนี้
ทำไมลูกค้าถึงจะต้องซื้อสินค้าของเรา
ทำไมลูกค้าถึงจะต้องซื้อสินค้าของเรา
และเมื่อค้นหาตัวเองเจอแล้ว ว่าอะไรคือข้อผิดพลาด และหาจุดยืนที่ชัดเจนได้แล้วว่า “ทำไมลูกค้าถึงต้องใช้สินค้าของเรา” ยอดขายก็กลับมาเติบโตอีกครั้ง
เราลองมาดูแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท คิสออฟบิวตี้ จำกัด
ปี 2560 รายได้ 114 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 145 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 211 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 236 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 114 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 145 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 211 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 236 ล้านบาท
ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขรายได้จะเห็นได้ว่า แม้ในปี 2563 ที่บ้านเราเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด แต่บริษัทก็ยังคงเติบโตได้อยู่
โดยเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงปลายปี 2562 คุณกิตติพนธ์ได้เริ่มหันมาวางระบบการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงที่ผ่านมาก็มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตของตัวเอง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ณ ขณะนั้น ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม คุณกิตติพนธ์ได้เล่าว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา สถานการณ์ภายนอกก็ยังคงไม่ดีขึ้น และอาจถึงขั้นเลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะผู้คนแทบไม่ได้เดินทางไปไหน ซึ่งพอไม่ได้ออกนอกบ้าน สินค้าหลักของพอร์ตที่เป็นกลุ่ม Perfume Bodycare จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะบริษัทมีพอร์ตสินค้าหลากหลายประเภท ทำให้เหมือนเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว
ที่สำคัญ คุณกิตติพนธ์ยังเสริมว่า โควิด 19 แม้จะทำให้เป็นอีกช่วงวิกฤติของธุรกิจ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการ “ทรานส์ฟอร์มองค์กร” ด้วย เพื่อสร้างรากฐานในการเข้าสู่โลกยุคใหม่อย่างเต็มตัว
สำหรับตอนนี้ Kiss of Beauty ก็เดินทางเข้ามาสู่ปีที่ 9 แล้ว ลงทุนเกิร์ลจึงถามคุณกิตติพนธ์ ว่าการเป็น CEO ในแต่ละช่วงของธุรกิจ มีความแตกต่างกันหรือไม่
เรื่องนี้เขาได้ให้คำตอบว่า ในช่วงแรก ๆ การเป็น CEO อาจจะไม่ได้ดูสวยหรูอย่างที่เราคิด เพราะถ้าให้เห็นภาพ CEO บริษัทขนาดเล็กไม่ได้ย่อมาจาก Chief Executive Officer แต่เป็น “Chief Everything Officer” ต่างหาก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นตำแหน่งที่ต้องทำทุกอย่าง เพื่ออุดช่องว่างที่บริษัทยังขาด
และเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น บทบาทหน้าที่ของ CEO ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แทนที่จะทำทุกอย่าง ก็กลายเป็นการสร้างทีมงาน การสร้างกระบวนการทำงาน การสร้างสังคมที่ทุกคนในองค์กร สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การเดินไปในเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน เพราะไม่ว่า CEO จะเก่งแค่ไหน แต่คนเพียงคนเดียว ก็ไม่สามารถจะสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้
ที่สำคัญ ตำแหน่งนี้ยังแลกมาด้วย “ความรับผิดชอบ” อย่างช่วงปี 2558 และปี 2559 ที่ Kiss of Beauty ประสบปัญหาหนัก ระดับผู้บริหารก็ต้องเป็นฝ่ายแรก ๆ ที่ไม่รับเงินค่าจ้าง 5-6 เดือน พร้อม ๆ กับการหาวิธีแก้ปัญหา เพราะต้องแบกความรับผิดชอบของพนักงานและครอบครัวนับร้อยชีวิต
สรุปคือ ถ้าเป็น CEO ช่วงบริษัทยังขนาดเล็ก ก็ต้องเน้นที่การสร้างทีมภายในให้แข็งแรง และเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น CEO ก็ต้องมองไกลขึ้น มองภาพที่ใหญ่ขึ้น สร้างระบบและกระบวนการทำงานที่จะช่วยให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อจะนำทางให้บริษัท และทีมงานได้เดินไปยังเป้าหมายที่วางไว้อย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดก็คือ “ต้องพร้อมที่จะเดินไปกับการเปลี่ยนแปลง” ไม่ยึดติดกับความสำเร็จ ซึ่งนับวันการเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และหน้าที่ของผู้นำก็คือมองว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร บริบทของธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วบริษัทของเราจะปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นโอกาสในการเติบโตได้อย่างไร..
References:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณกิตติพนธ์ นามพิชญ์ธนสิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Kiss of Beauty
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณกิตติพนธ์ นามพิชญ์ธนสิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Kiss of Beauty
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า