Style Theory สตาร์ตอัปที่จะมาแก้ปัญหา “มีชุดเต็มตู้ แต่ไม่รู้จะใส่อะไรดี”
Business

Style Theory สตาร์ตอัปที่จะมาแก้ปัญหา “มีชุดเต็มตู้ แต่ไม่รู้จะใส่อะไรดี”

8 ต.ค. 2021
Style Theory สตาร์ตอัปที่จะมาแก้ปัญหา “มีชุดเต็มตู้ แต่ไม่รู้จะใส่อะไรดี” /โดย ลงทุนเกิร์ล
ทุกคนชอบช็อปปิงเสื้อผ้ากันหรือไม่คะ ? แล้วถ้าชอบเคยช็อปเยอะสุดกี่บาท ?
ข้อมูลจากเว็บไซต์ whowhatwear ได้ระบุว่าเราควรใช้จ่ายในส่วนของเสื้อผ้า
ประมาณ 5% ของเงินเดือนเท่านั้น
หรือก็คือถ้าหากคุณเงินเดือน 20,000 บาท
ก็ควรใช้เงินซื้อเสื้อผ้าแค่เพียงเดือนละ 1,000 บาท
ซึ่งด้วยการมีอยู่ของอุตสาหกรรม Fast Fashion ก็ทำให้เงินแค่เพียง 1,000 บาท ก็อาจซื้อเสื้อผ้าได้มากถึง 10 ชิ้น
แต่ไม่ว่าเราจะมีเสื้อผ้ามากแค่ไหน ความคิดที่ว่า “ไม่รู้จะใส่อะไร หรือไม่มีเสื้อจะใส่เลย” ก็ยังเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดกับคุณ Raena Lim เช่นเดียวกัน จนนำมาสู่การก่อตั้ง Style Theory สตาร์ตอัปจากสิงคโปร์ซึ่งให้บริการเสื้อผ้า เครื่องประดับ แบบ Subscription เพื่อแก้ปัญหาซื้อเสื้อผ้าเยอะเกินไป แต่กลับไม่รู้ว่าจะหยิบอะไรมาใส่
แล้ว Style Theory จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
“ทำไมมีเสื้อผ้าเยอะขนาดนี้ แล้วยังบ่นว่าไม่มีเสื้อจะใส่อีก ?”
นี่คือคำพูดของคุณ Chris Halim สามีของคุณ Raena Lim
ซึ่งเมื่อเธอได้ลองไตร่ตรองคำพูดของสามีด้วยหลักเหตุผลต่าง ๆ เธอก็พบว่าเสื้อผ้าทั้งหมดที่เธอเสียเงินซื้อมา ก็เพื่อที่จะ “ตามแฟชั่น” เพียงแค่นั้น
หลังจากนั้นเธอก็ตระหนักได้ถึงปัญหาอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ เมื่อตอนที่ได้มีโอกาสไปทำการกุศลที่ประเทศเคนยา และได้เห็นว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion นั้นโหดร้ายต่อคนและต่อโลกมากแค่ไหน
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ คุณ Raena Lim ตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง โดยมีสามีของเธอเป็นคนคอยสนับสนุน จึงเกิดเป็นธุรกิจการให้เช่าชุดนั่นเอง
แม้ว่าธุรกิจเช่าชุดในลักษณะนี้ เพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรนั้นจะไม่ได้เป็นธุรกิจใหม่ สำหรับประเทศทางตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกาก็มี Rent the Runway ที่เกิดขึ้นในปี 2009 ซึ่งจุดกระแสให้เกิดธุรกิจเดียวกันในประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย
แต่ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน ทำให้ถึงอยากจะเลียนแบบระบบการทำงานมา
ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะใช้ระบบเดียวกันกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทำให้เมื่อคุณ Raena Lim และคุณ Chris Halim ตัดสินใจที่จะเริ่มทำธุรกิจนี้
ทั้ง 2 คนจึงเริ่มจากการทำ “Waitlist” ก่อน เพื่อดูจำนวนผู้ที่สนใจในบริการนี้ ในปี 2016
เพราะเมื่อได้รายชื่อมา ก็จะทำให้คาดเดาจำนวนความต้องการได้ รวมถึงสามารถเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร อย่างเสื้อผ้า ให้พร้อมไปด้วย
แล้วลักษณะบริการของ Style Theory เป็นอย่างไร ?
Style Theory จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ สามารถจ่ายเงิน 2,400-3,200 บาทต่อเดือน
เพื่อเช่าเสื้อผ้าจำนวนเท่าไรก็ได้ รวมถึงกระเป๋าแบรนด์เนม 1-2 ใบต่อเดือน
โดยทุก ๆ การเช่า 1 ครั้ง จะสามารถเช่าได้ 3 ชุด และต้องกำหนดวันรับและวันส่งคืน
ก่อนถึงจะสามารถกดเช่าในรอบถัดไปได้
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว สมาชิกรายเดือนจะเช่าเสื้อผ้าสูงสุดได้มากถึง 20 ชุดต่อเดือน ดังนั้นพอหารออกมาแล้ว จะตกประมาณชุดละ 120-160 บาทต่อตัวเท่านั้น แต่แลกกับการได้ใส่เสื้อผ้าระดับดีไซเนอร์แบรนด์
อ่านมาถึงตรงนี้สายแฟชั่นหลายคนอาจจะเริ่มตาลุกวาวพอสมควร
แต่เนื่องจากข้อมูลล่าสุด จำนวนเสื้อผ้าของ Style Theory นั้น มีประมาณ 50,000 ชุด
ส่วนผู้ใช้งานมีกว่า 200,000 คน
ทำให้หากเราเป็นคนที่มีรูปร่างแบบมาตรฐาน ก็อาจจะต้องแย่งชิงชุดกับผู้อื่น
หรือถ้าชุดไหน เป็นที่นิยมมาก ๆ ก็ยากที่จะเช่าชุดที่อยากใส่มาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ทาง Style Theory ก็สามารถระดมทุนได้เพิ่มเกือบ 500 ล้านบาท จาก SoftBank ร่วมกับนักลงทุนรายอื่น ๆ อย่าง Alpha JWC Ventures และ Paradise Group
เพื่อที่จะมาพัฒนาระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะในส่วนอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ซึ่งในปัจจุบัน Style Theory ก็ไม่ได้ให้บริการแค่ในสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานที่อินโดนีเซีย และฮ่องกงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม อีกคำถามที่บางคนอาจสงสัยเกี่ยวกับธุรกิจนี้ ก็คือ เรื่องผลกระทบจากการเกิดขึ้นของโรคระบาดทั่วโลก เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่น ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ
ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เนื่องจากคนไม่ได้ออกจากบ้านเลย
โดยเรื่องนี้ Style Theory ตัดสินใจแก้เกมด้วยการเปิดแพลตฟอร์มสำหรับขายเสื้อผ้ามือสองแทน
เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับคนยุคใหม่ ที่เปิดใจยอมรับกับสินค้ามือสองมากขึ้น
และทำให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดแฟชั่นอีกธุรกิจได้อีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ และก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็นในประเทศไทยเท่าไรนัก
ซึ่งแม้ว่า เสื้อผ้าตามท้องตลาดบ้านเรา จะมีราคาค่อนข้างย่อมเยา และสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว
แต่ถ้ามองในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็คงไม่ต่างอะไรกับอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ก่อให้เกิดมลพิษและขยะจำนวนมหาศาล และอาจรวมไปถึงกรณีกดขี่แรงงานด้วย
ดังนั้น หากเราลองลดการ “ซื้อ” แล้วเปลี่ยนเป็น “เช่า”
ก็น่าจะเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋า และอาจยังเป็นมิตรกับโลกมากกว่าด้วย..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.