Health & Beauty
ภาษีผ้าอนามัย ภาระที่ผู้หญิงควรจ่าย ?
23 ก.ค. 2021
ภาษีผ้าอนามัย ภาระที่ผู้หญิงควรจ่าย ? /โดยลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า ผู้หญิง 1 คน จะต้องใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ยมากถึง 16,800 ชิ้น ตลอดระยะเกือบครึ่งของชีวิต
แปลว่านอกจากผู้หญิงจะต้องรู้สึกไม่สบายตัวกับ “ประจำเดือน” แล้ว ยังต้องมาแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยอีกด้วย เนื่องจากเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่ต้องซื้อใช้เป็นประจำทุก ๆ เดือน
แปลว่านอกจากผู้หญิงจะต้องรู้สึกไม่สบายตัวกับ “ประจำเดือน” แล้ว ยังต้องมาแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยอีกด้วย เนื่องจากเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่ต้องซื้อใช้เป็นประจำทุก ๆ เดือน
ดังนั้น “ภาษีผ้าอนามัย” จึงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานานหลายทศวรรษ
โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสนใจ และออกมาขับเคลื่อนในประเด็นนี้
ทำไมผ้าอนามัยควรถูกงดเว้นภาษี และประเทศอื่น ๆ จัดการกับภาษีผ้าอนามัยอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว ต้นกำเนิดของผ้าอนามัยมีมานานมากกว่า 1,000 ปี โดยเริ่มต้นจากการใช้วัสดุตามธรรมชาติ
ซึ่งในแต่ละยุคสมัยและพื้นที่ ก็มีการใช้วัสดุที่แตกต่างกันออกไป เช่น สมัยอียิปต์ใช้เยื่อไม้ปาปิรุส, ชาวกรีกและโรมันใช้ผ้าสำลีพันรอบแกนไม้ ส่วนคนพื้นเมืองชาวอเมริกัน จะใช้หญ้ามอสส์ห่อด้วยหนังควาย
ส่วนในประเทศไทย เราก็คงเคยเห็นการ “ขี่ม้า” ในละครบุพเพสันนิวาส ที่แม่การะเกดใช้ผ้าขี้ริ้วพันรอบใยมะพร้าว นำมาลอดระหว่างขา และคาดด้วยเข็มขัด
อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนแรกของผ้าอนามัยเริ่มต้นขึ้นในปี 1895 จากความช่างสังเกตของนางพยาบาลสาว ที่เห็นว่าผ้าพันแผลสามารถซึมซับเลือดได้ดี จึงได้นำไอเดียนี้มาประยุกต์เป็นผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง แต่ก็มักจะถูกใช้ในวงสตรีชนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากมีราคาแพง
ต่อมาผ้าอนามัยก็ถูกพัฒนาเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงมากขึ้น
อย่าง “ผ้าอนามัยแบบสอด” ที่คิดค้นเป็นครั้งแรกโดย ดร. Earle Haas และจดสิทธิบัตรในปี 1933
โดยเขานำเส้นใยสำลีหนานุ่มอัดเข้ากับหลอด เพื่อให้มันเป็นแท่ง และนำมาผูกติดกับเชือกเพื่อให้ง่ายต่อการถอดออก
หลังจากนั้นในปี 1936 เขาก็ได้ขายสิทธิบัตรให้กับบริษัท “Gertrude Tendrich” ด้วยมูลค่า 32,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งบริษัทก็ได้นำไปพัฒนาต่อ โดยผลิตผ้าอนามัยแบบสอดนี้ ด้วยจักรเย็บผ้าและเครื่องอัดอากาศ และตั้งชื่อให้กับผลิตภัณฑ์นี้ว่า “Tampax”
แต่ในช่วงแรก ๆ Tampax กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยม แถมต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากโบสถ์ ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมและศาสนา
ซึ่งใครจะไปคิดว่าผลิตภัณฑ์เล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิง จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งไปได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับเป็นตัวกระตุ้น ให้ผู้หญิงเริ่มลุกขึ้นสู้และเรียกร้องสิทธิของตนเองมากขึ้น
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าอนามัยแบบสอดก็ค่อย ๆ เริ่มเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากผู้หญิงเริ่มมีบทบาทสำคัญในกองทัพ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเป็นผ้าอนามัยแบบแผ่นที่ใช้แล้วทิ้งด้วย โดยจะเป็นแบบที่ยึดติดกับเข็มขัดยางยืดรอบเอวเพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น
จนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 1980 ผ้าอนามัยแบบที่มีแถบกาวติดสำหรับยึดกับกางเกงชั้นใน ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ซึ่งยี่ห้อแรกที่คนไทยได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายก็คือ “Kotex” หรือที่เราเรียกกันว่า “โกเต๊กซ์” นั่นเอง
ถึงแม้ว่าผ้าอนามัยจะมีวิวัฒนาการมาเกือบ 200 ปี โดยปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาให้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไร้สารเคมี หรือรูปแบบถ้วยอนามัยซิลิโคน
แต่ปัญหาในเรื่อง “ราคา” ที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนยังต้องเผชิญหน้าก็ยังไม่หมดไป
ทั้ง ๆ ที่หลายคนก็ต่างเรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นที่ควรจะแจก “ฟรี” หรืออย่างน้อยก็ควรที่จะยกเว้นภาษีสำหรับผ้าอนามัย
ซึ่งโดยปกติแล้วระยะเวลาประจำเดือนของผู้หญิงเฉลี่ยอยู่ที่ 6 วันต่อเดือน แต่ละวันของผู้หญิงจะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเพื่อสุขอนามัยที่ดี
ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้วการเป็นประจำเดือน 1 รอบ ผู้หญิงจะใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 แผ่น
เท่ากับว่า 1 ปีจะต้องใส่ผ้าอนามัยเฉลี่ย 360 แผ่น
เท่ากับว่า 1 ปีจะต้องใส่ผ้าอนามัยเฉลี่ย 360 แผ่น
สมมติว่าผ้าอนามัยแผ่นละ 10 บาท ค่าใช้จ่ายก้อนนี้จะมากถึง 3,600 บาทต่อปีเลยทีเดียว
โดยสาเหตุที่มีการเรียกร้องให้ยกเว้นภาษี ก็มาจากหลาย ๆ ประเทศ ที่มีการกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของผ้าอนามัยไว้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป
ประเทศฮังการี อยู่ที่ 27%
ประเทศสวีเดน เดนมาร์ก และโครเอเชีย อยู่ที่ 25%
และประเทศอิตาลี อยู่ที่ 22%
ประเทศฮังการี อยู่ที่ 27%
ประเทศสวีเดน เดนมาร์ก และโครเอเชีย อยู่ที่ 25%
และประเทศอิตาลี อยู่ที่ 22%
ส่วนในประเทศเยอรมนี เดิมเก็บที่ 19% แต่ในปี 2019 มีการปรับลดให้เหลือ 7% เท่ากับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
และตั้งแต่ปี 2020 รัฐบาลเยอรมนี ยังได้สร้างโครงการนำร่อง “แจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ประชาชน” ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน, สถานที่ราชการ และตามพื้นที่สาธารณะ
เช่นเดียวกับประเทศนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เริ่มแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรีตามสถานศึกษา รวมทั้งแจกจ่ายให้คนที่มีฐานะยากจนแล้วเช่นกัน
และนอกจากประเทศเยอรมนีแล้ว ยังมีอีก 7 ประเทศที่ได้ปรับประเภทสินค้าของผ้าอนามัยจาก “สินค้าฟุ่มเฟือย” เป็น “สินค้าอุปโภคบริโภค” นั่นก็คือ สวิตเซอร์แลนด์, สเปน, ไซปรัส, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และโปรตุเกส ซึ่งก็ทำให้ผู้บริโภคแบกรับภาระภาษีน้อยลงไปกว่าครึ่ง
ส่วนประเทศไทยเรา ก็มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย เท่า ๆ กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ก็คือ 7% นั่นเอง
ส่วนประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว นั่นก็คือ สหราชอาณาจักร, จาเมกา, แทนซาเนีย, ไนจีเรีย, นิการากัว, เลบานอน, เคนยา, ยูกันดา, ไอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และสหรัฐเมริกาใน 18 รัฐ รวมทั้งประเทศแคนาดาและอินเดียที่เก็บเพียงภาษีนำเข้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็เริ่มมีบางประเทศ ที่ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยเลยด้วยซ้ำ
เช่น ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่แจกจ่ายผ้าอนามัยให้ประชาชนได้ใช้แบบฟรี ๆ
เช่น ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่แจกจ่ายผ้าอนามัยให้ประชาชนได้ใช้แบบฟรี ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นแล้วว่า “ผ้าอนามัย” ไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ ในทุก ๆ เดือน ของผู้หญิงอีกต่อไป
แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นและยังเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งก็ควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่ “ผู้หญิง” ที่อยู่ในฐานะของประชาชนควรจะเข้าถึงได้ ไม่ใช่หรือ..
References:
-https://www.upworthy.com/the-story-behind-tampons-isnt-gross-its-super-fascinating
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tampon_tax
-https://www.bbc.com/news/world-32883153
-https://www.statista.com/chart/18194/sales-tax-rate-on-feminine-hygiene-products-in-selected-countries/
-https://meridian-magazine.com/the-fight-against-tampon-tax-in-italy/
-https://www.upworthy.com/the-story-behind-tampons-isnt-gross-its-super-fascinating
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tampon_tax
-https://www.bbc.com/news/world-32883153
-https://www.statista.com/chart/18194/sales-tax-rate-on-feminine-hygiene-products-in-selected-countries/
-https://meridian-magazine.com/the-fight-against-tampon-tax-in-italy/