เรียนรู้ ช่องทางการสร้างรายได้ ของนักเขียนการ์ตูน
Business

เรียนรู้ ช่องทางการสร้างรายได้ ของนักเขียนการ์ตูน

18 ก.ค. 2021
เรียนรู้ ช่องทางการสร้างรายได้ ของนักเขียนการ์ตูน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึงการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั้นน่าจะมีชื่อของ “One Piece” ซึ่งรู้หรือไม่คะว่า การ์ตูนเรื่องนี้สร้างรายได้มหาศาลให้กับ คุณเออิจิโร โอดะ ที่เป็นผู้เขียน เพราะแค่ค่าต้นฉบับของ One Piece ก็ทำให้เขาได้รายได้ “หน้าละ” 15,000 บาท สมมติว่า 1 ตอนมี 20 หน้า เขาก็จะได้รายได้ 300,000 บาทต่อสัปดาห์ เลยทีเดียว
ซึ่งนี่ยังไม่รวมส่วนแบ่งรายได้ของยอดขายหนังสือการ์ตูนอีก 10% และที่ผ่านมาก็ขายไปได้แล้วกว่า 440 ล้านเล่ม
นอกจากนั้นคุณเออิจิโร โอดะ ก็น่าจะยังมีค่าลิขสิทธิ์ ในการนำตัวละครในเรื่อง One Piece ไปเป็นสินค้า เกม แอนิเมชัน หรือภาพยนตร์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าของเม็ดเงินจากสินค้าเหล่านี้รวม ๆ แล้ว กว่า 3.6 แสนล้านบาท
ไม่เพียงแต่ One Piece เท่านั้น อีกหนึ่งเรื่องที่ เพิ่งเป็นกระแสไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือ Demon Slayer
ซึ่งแม้ว่าตอนที่พิมพ์ลงในนิตยสาร จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าตอนนี้ แต่พอนำมาผลิตเป็นแอนิเมชัน และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ในต่างประเทศ กลับดังเป็นพลุแตก
จนเมื่อมีการสร้างภาคต่อ Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2020 ก็สามารถกวาดรายได้ทั่วโลกไปสูงถึง 16,220 ล้านบาท เอาชนะแชมป์เก่าอย่าง แอนิเมชันในตำนาน Spirited Away ที่อยู่อันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2001
และเรื่องนี้ก็น่าจะสร้างรายได้ให้กับคุณโคโยฮารุ โกโตเกะ ผู้เขียนเรื่องนี้ไปไม่น้อยเช่นกัน
พอเห็นอย่างนี้แล้ว หลาย ๆ คนคงนึกฝันและอยากประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนบ้าง
แต่จริง ๆ แล้วตัวอย่างเหล่านี้ ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนเท่านั้น และหลาย ๆ ครั้ง เราก็อาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นนักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง”
แล้วถ้าเราอยากหารายได้จากการวาดการ์ตูนบ้าง จะต้องทำอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในอดีต ในยุคที่การอ่านมีแค่สื่อสิ่งพิมพ์
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หรือแม้แต่หนังสือการ์ตูน
อาจกล่าวได้ว่า ผลงานการเขียนทุกรูปแบบ ถูกผูกอยู่กับสำนักพิมพ์
แม้ว่าผลงานที่ได้เกริ่นไปแล้ว ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการเหล่านี้ คือผ่านสำนักพิมพ์ พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แล้วจึงขยายเป็นรูปแบบอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่นักเขียนทุกคน ที่จะประสบความสำเร็จแบบนั้น บางคนทำได้เพียงแค่ตีพิมพ์ แล้วก็อาจจะไม่ได้รับความนิยม ทำให้ไม่ได้ไปต่อ
หรือบางคนอาจจะไม่ได้ตีพิมพ์เลยด้วยซ้ำ เพราะไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักพิมพ์ หมดโอกาสที่จะพิสูจน์เลยว่า สุดท้ายแล้วผลงานเหล่านั้น จะได้รับความนิยมหรือไม่
แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกของเราก็เริ่มมีช่องทางการเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางมากขึ้น
สำหรับวงการการ์ตูนเองก็เช่นกัน อย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีแพลตฟอร์มสำหรับเผยแพร่ผลงานการ์ตูนทางออนไลน์อยู่ไม่น้อย เช่น Webtoon ของบริษัท Naver, KakaoPage, Daum Webtoon หรือ Lezhin Comics
โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะเปิดโอกาสให้นักเขียนหรือนักวาด มาลงผลงานได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ซึ่งหากผลงานเหล่านั้น ได้รับความนิยม ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ในการสร้างรายได้ให้กับเจ้าของผลงานเหล่านี้อีกด้วย
แล้วนักเขียนการ์ตูนจะสร้างรายได้ ได้จากอะไรบ้าง ?
อย่างแรกเลยก็คือ ค่าโฆษณาจากการ Tie in สินค้าในเนื้อเรื่อง ซึ่งราคาโฆษณาสินค้าแต่ละตัวก็ไม่ใช่น้อย ๆ มักจะขึ้นอยู่กับความดังของการ์ตูน โดยเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นหรือมากกว่านั้น
ต่อมาก็คือส่วนแบ่งรายได้ ที่แพลตฟอร์มได้รับมาจากนักอ่าน
ในกรณีที่เรามีผู้ติดตามมากพอ และยอมจ่ายเงินเพื่อต้องการอ่านตอนใหม่ ๆ เร็วกว่าคนอื่น
หรือบางกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มที่เก็บค่าสมาชิกอย่าง Lezhin Comics เจ้าของผลงานเอง ก็น่าจะได้ส่วนแบ่งจากค่าสมาชิกนี้ด้วย
นอกจากนั้น ถ้าการ์ตูนของเรามีผู้อ่านจำนวนมาก
ก็มีโอกาสสูง ที่จะถูกนำไปต่อยอดในรูปแบบอื่น เช่น ภาพยนตร์หรือซีรีส์
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการ์ตูนมีการเล่าเรื่องออกมาเป็นภาพไม่ต่างจากซีรีส์ เพียงแต่ต่างกันที่เป็นการถ่ายทอดผ่านลายเส้น หรือผ่านการแสดงเท่านั้น
ดังนั้น การซื้อลิขสิทธิ์จากการ์ตูนมาทำซีรีส์ ก็จะช่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องเริ่มจินตนาการ หรือตีความผ่านตัวหนังสือออกมาใหม่ทั้งหมด
ที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การ์ตูนที่ได้รับความนิยม ยังหมายถึงได้รับการการันตีมาในระดับหนึ่งแล้ว ว่าเรื่องราวที่จะทำมีฐานผู้อ่าน ที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นฐานคนดูได้
อย่างที่ผ่านมา ซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ เรื่อง ก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก Webtoon
เช่น ซีรีส์ Itaewon Class มีเรตติงเฉลี่ยทั่วประเทศ 11.8%
สร้างจากผลงานของนักเขียน “Jo Gwang-Jin”
หรือเรื่องที่กำลังออกอากาศ และเป็นกระแสบนโลกออนไลน์
เช่น My Roommate is a Gumiho สร้างจากผลงานของนักเขียน “Na” และ Nevertheless สร้างจากผลงานของนักเขียน “Jeongseo”
ซึ่งเมื่อถูกหยิบนำมาทำเป็นซีรีส์แล้ว ก็อาจจะส่งผลดีทำให้การ์ตูนได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะผู้ชมที่อินกับเรื่องมาก ๆ บางคนก็อาจจะไปหาอ่านในฉบับการ์ตูนต่อ
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงสรุปได้ว่า ปัจจุบันหากเราอยากทำให้ผลงานของเราเป็นที่ยอมรับ ก็มีช่องทาง ที่เปรียบเสมือนโอกาส รอให้เราคว้าเอาไว้อยู่เป็นจำนวนมาก
อยู่ที่ว่าเราจะเตรียมความพร้อม และคว้าโอกาสเหล่านั้นมาอยู่ในมือเราได้หรือไม่
อย่างคำกล่าวของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ว่า
“ไม่มีหรอกนักเขียนไส้แห้ง ศิลปินไส้แห้ง ในโลกนี้ไม่มีอาชีพอะไรไส้แห้ง มีแต่พวกกระจอกเท่านั้นที่ไส้แห้ง”
ดังนั้นการทำในสิ่งที่เรารัก เราฝัน ถ้าตอนแรกทำแล้วยังไม่สำเร็จ
เราก็เพียงแค่ต้องพยายามให้มากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ต้องมีสักวันที่เราจะสามารถเก็บเกี่ยวผลลัพธ์
ที่เกิดจากความมุ่งมั่น และความพยายามเหล่านั้นแน่นอน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.