การลงทุนในงานศิลปะ น่าสนใจอย่างไร ?
Business

การลงทุนในงานศิลปะ น่าสนใจอย่างไร ?

10 ก.ค. 2021
การลงทุนในงานศิลปะ น่าสนใจอย่างไร ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
“หนึ่งในสองแหล่งความมั่งคั่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทุกวันนี้คือ ศิลปะร่วมสมัย และสิ่งที่ฉันพูดไม่ได้เป็นเรื่องตลก”
นี่คือคำกล่าวของคุณ Larry Fink ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท BlackRock ซึ่งเป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก และเขายังเป็นหนึ่งใน “ซีอีโอที่ดีที่สุดในโลก” จากการจัดอันดับของ Barron's ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 14 ปี
ตลาดการลงทุนในศิลปะน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟังค่ะ
หากพูดถึงการลงทุน โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะนึกถึงการลงทุนในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หรือทองคำ เนื่องจากสินทรัพย์เหล่านี้มีสถาบันรองรับชัดเจน ทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
นอกจากการลงทุนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันแล้ว การลงทุนในงานศิลปะและของสะสม (Collectibles) ก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
เนื่องจากความสนใจในงานศิลปะทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน
โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถิติราคาในการประมูลงานศิลปะ ก็มักจะกลายมาเป็นหัวข้อข่าวอยู่เสมอ
ตัวอย่างเช่น
ปี 2017 ภาพ “Salvator Mundi” ของจิตรกรชื่อก้องโลก อย่างคุณ Leonardo da Vinci ถูกประมูลไปด้วยราคาราว 14,800 ล้านบาท
ซึ่งนักสะสมชาวรัสเซีย เจ้าของคนก่อนหน้านี้ ได้ซื้อผลงานชิ้นนี้มาด้วยราคาประมาณ 4,200 ล้านบาท ในปี 2013 เท่ากับว่ามูลค่าของภาพนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 4 ปี
ปี 2018 ภาพ “L’Arc de Triomphe” ของคุณ René Magritte ถูกประมูลไปด้วยมูลค่า 783 ล้านบาท
โดยผลงานชิ้นนี้ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายในการประมูลในปี 1992 ในราคา 34 ล้านบาท เท่ากับว่ามูลค่าของภาพนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 23 เท่า ภายในระยะเวลา 26 ปี
ปี 2019 ภาพ “Meules” ของคุณ Claude Monet ถูกประมูลด้วยมูลค่าสูงถึง 3,449 ล้านบาท ซึ่งผู้ขายปัจจุบันประมูลภาพนี้มาในปี 1986 ในราคา 78 ล้านบาท เท่ากับว่ามูลค่าของภาพนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 44 เท่า ภายในระยะเวลา 33 ปี
จากผลตอบแทนเหล่านี้ ก็น่าจะพูดได้ว่า “ศิลปะ” เป็นการลงทุน ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
แล้วตลาดงานศิลปะนี้ใหญ่แค่ไหน ?
ในปี 2020 ที่ผ่านมา ตลาดงานศิลปะทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะการขายงานศิลปะทางออนไลน์ มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2019 และคิดเป็นส่วนแบ่ง 25% ของมูลค่าตลาด
ซึ่งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ยังคงเป็นผู้นำในตลาดงานศิลปะ โดยสหรัฐอเมริกาครองส่วนแบ่งการตลาด 42% ส่วนสหราชอาณาจักรและจีน อยู่ที่ 20% ของยอดขายทั่วโลก
สำหรับข้อดีของการลงทุนในงานศิลปะ คือ นอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาแล้ว ระหว่างทางเรายังสามารถชื่นชมผลงานเหล่านี้ไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการแปลงคุณค่าทางใจ เป็นมูลค่าจากตัวเงินก็ได้
ซึ่งหากศิลปินเจ้าของผลงานมีชื่อเสียงขึ้น จนได้รับรางวัลต่าง ๆ หรือเป็นงานที่ศิลปินผู้สร้างได้จากโลกนี้ไปแล้ว มูลค่าของงานศิลปะเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นได้เรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
ยิ่งถ้าเป็นผลงานศิลปะระดับ Blue Chip ซึ่งหมายถึง ผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่ยอมรับ เช่น ผลงานของคุณ Andy Warhol หรือผลงานของคุณ Jean-Michel Basquiat ก็มีแนวโน้มว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ “งานศิลปะ” เป็นสินทรัพย์ทางเลือก ที่ให้ผลตอบแทนที่ไม่สอดคล้องไปกับสินทรัพย์กระแสหลัก ดังนั้นผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจ จึงแทบจะไม่กระทบสินทรัพย์งานศิลปะเลย
เพราะผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่มีทุนทรัพย์สูงอยู่แล้ว รวมถึงงานศิลปะที่เป็นของศิลปินชื่อดังระดับโลก ยังคงเป็นที่ต้องการของพิพิธภัณฑ์จากทั่วโลก ที่ต้องการลงทุนซื้อไปจัดแสดงด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในงานศิลปะ แม้จะให้ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคาที่ค่อนข้างสูง ในทางกลับกันย่อมมีข้อเสียในหลายประการเช่นกัน
ประการแรก คือ ขาดมูลค่าที่แท้จริงเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุน
เนื่องจากราคาซื้อขายเหล่านี้จะสูงหรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือความชอบส่วนบุคคล
รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ชื่อเสียงของศิลปิน เรื่องราวหรือที่มาของผลงาน ความหายากเป็นหนึ่งเดียวในโลก ระยะเวลา อายุขัย และความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ประการที่สอง คือ การซื้อขายงานศิลปะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ ทำให้นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน
ต้องศึกษาสินทรัพย์เหล่านั้นให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน หรืออาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดูสินค้า เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการซื้อขายงานศิลปะที่มีการปลอมแปลง
ประการที่สาม คือ ความสมบูรณ์ของตัวงานที่เกิดจากการจัดเก็บอย่างถูกวิธี การควบคุมความชื้น และอุณหภูมิเป็นแง่มุมสำคัญของการรักษางานศิลปะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายงาน และการซ่อมแซมบำรุงรักษา จะต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และอาจมีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงของการถูกโจรกรรม โดยเฉพาะผลงานที่มีชื่อเสียง ซึ่งหากต้องการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการประกันภัยสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาเป็นต้นทุนอีกทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าการลงทุนในงานศิลปะ เป็นอีกหนึ่งการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรละเลย มองข้ามข้อเสียไป และผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลตอบแทนในอนาคต
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผลงานศิลปะที่ถูกประมูลราคาสูงสุดในปี 2020 ได้แก่ ภาพ “Triptych Inspired by the Oresteia of Aeschylus” ของคุณ Francis Bacon ศิลปินชาวไอริช ในราคา 2,632 ล้านบาท โดยผู้ประมูลทางออนไลน์จากประเทศจีน
ซึ่งราคานี้ ถือเป็นสถิติใหม่ของการประมูลงานศิลปะทางออนไลน์เลยทีเดียว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.