Bullet Journal การจดบันทึกที่กำลังมาแรง ดีอย่างไรและใครคิดค้น
LifestyleInspiration

Bullet Journal การจดบันทึกที่กำลังมาแรง ดีอย่างไรและใครคิดค้น

23 พ.ค. 2021
Bullet Journal การจดบันทึกที่กำลังมาแรง ดีอย่างไรและใครคิดค้น /โดย ลงทุนเกิร์ล
จากการวิจัยของ Longman and Atkinson พบว่า
คนเรามีโอกาสที่จะจดจำข้อมูลจากการได้ยินเพียง 5% เท่านั้น
แต่ถ้าหากว่าเรามีการจดบันทึกข้อมูลที่ได้ยินนั้น เราจะมีโอกาสจดจำได้สูงขึ้นเป็น 34%

ซึ่งในการจดบันทึกนั้น เราก็สามารถจดได้หลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นการจดเลกเชอร์ จดชอร์ตโน้ต หรือแม้แต่จด To Do List

อย่างไรก็ตามหนึ่งในวิธีการจดบันทึกที่กำลังมาแรง ก็คือ “Bullet Journal”

แล้วการจด Bullet Journal นั้นแตกต่างจากการจดบันทึกรูปแบบอื่นอย่างไร ?
และใครเป็นคนคิดค้นการจดบันทึกวิธีนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง

ผู้ที่คิดค้นการจด Bullet Journal หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า BUJO (บูโจ) คือคุณ Ryder Carroll
ซึ่งมีอาชีพเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและนักเขียน

จุดเริ่มต้นของการคิดค้นการจดบันทึกแบบ Bullet Journal
เกิดมาจากการที่คุณ Ryder Carroll ได้รับการวินิจฉัยว่า มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
ทั้งในการฟัง พูด อ่าน เขียน และคำนวณ

โดยเป็นความบกพร่องในการรับรู้ข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้
ซึ่งไม่ใช่ความบกพร่องทางสติปัญญาแต่อย่างใด

ทำให้เขาต้องคิดค้นหาวิธี ที่จะจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาได้รับ
เพื่อให้การทำงานของเขานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งหลังจากผ่านไปหลายปี เขาก็ค้นพบวิธีจดบันทึกที่เหมาะกับเขา โดยเขาเรียกมันว่า “Bullet Journal”

ตอนแรกคุณ Ryder Carroll ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเผยแพร่วิธีการจด Bullet Journal ให้กับคนอื่น
จนเพื่อนของเขาได้รู้จักกับวิธีนี้ และคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นเช่นกัน
จึงสนับสนุนให้เขาลองแบ่งปันวิธีการจดรูปแบบนี้ให้กับผู้อื่นด้วย

ในปี 2013 คุณ Ryder Carroll ก็ตัดสินใจแชร์การจด Bullet Journal สู่โลกออนไลน์
ด้วยการสร้างเว็บไซต์ Bulletjournal.com ขึ้น

แล้วการจด Bullet Journal แตกต่างจากการจดบันทึกทั่วไปอย่างไร ?

การจด Bullet Journal คือการ “ทบทวนอดีต จัดการกับปัจจุบัน และวางแผนสำหรับอนาคต”
หรือก็คือ การจดบันทึกสิ่งที่เราจะทำ สิ่งที่เราควรทำ และสิ่งที่ต้องการจะทำในอนาคต

โดยมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละการกระทำ จากนั้นเราจึงย้อนกลับมาดู
ว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง แล้วจัดการกับสิ่งนั้น ๆ

เพื่อให้ในวันถัดไปเราสามารถทำงานได้อย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะหลงลืมอะไร
รวมถึงสามารถจดบันทึกกิจกรรม งานอดิเรกต่าง ๆ อย่างละเอียดด้วย

ซึ่งหลักในการจด Bullet Journal จะแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบใหญ่
คือ การจดที่กระชับและเข้าใจง่าย (Rapid Logging) และโครงสร้างการบันทึก (Module)

เริ่มจากการจดแบบ Rapid Logging โดยในหนึ่งหน้ากระดาษ ควรจะประกอบด้วย

ส่วน “ชื่อหัวข้อ” โดยทุก ๆ กิจกรรมที่เราทำจะต้องมีการตั้งหัวข้อไว้
เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกและใช้ในการจัดหมวดหมู่
ส่วน “เลขหน้า” เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลที่จดบันทึก

และส่วนของ “Bullet ต่าง ๆ” เพื่อแสดงถึงสิ่งที่เราจะทำ
โดยการจดแบบ Bullet คือการจดเป็นข้อสั้น ๆ ด้วยประโยคที่เข้าใจง่าย
ช่วยให้เราสามารถจดจำการกระทำเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

ซึ่งคุณ Ryder Carroll ก็ได้แนะนำเคล็ดลับเล็ก ๆ
ว่าควรจะกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแทนสถานะของแต่ละ Bullet เช่น

• แทน สิ่งที่เราจะต้องทำ
X แทน งานที่ทำเสร็จแล้ว โดยปกติจะกาทับเครื่องหมาย “•”
> แทน งานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น
< แทน งานมีกำหนดการ
– แทน การจดบันทึกทั่วไป
o แทน Event หรือกิจกรรมที่ต้องทำ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายอื่น ๆ ที่เราสามารถเติมเพื่อบอกจุดประสงค์ของ Bullet นั้น ๆ เช่น
การเติม * นำหน้า Bullet ที่เรารู้สึกว่าเป็นงานที่สำคัญ
แต่ถ้าหากทุกงานที่เราจดนั้นมีความสำคัญเท่ากันหมด ก็ไม่จำเป็นต้องใส่
หรือการเติม ! นำหน้า Bullet ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา

ซึ่งถ้าใครอยากคิดสัญลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาแบบเฉพาะเจาะจง ก็สามารถทำได้
แต่คุณ Ryder Carroll ก็แนะนำว่า อย่าให้มันมากเกินไป
เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นว่า ไม่มีข้อความไหนที่สำคัญเป็นพิเศษเลย

และเมื่อเรารู้แล้วว่าแต่ละ Bullet ต้องจดแบบไหน
จากนั้นจึงแบ่ง Module หรือแบ่งโครงสร้างสมุดบันทึกออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ
ได้แก่ ส่วน Index, ส่วน Future Log, ส่วน Monthly Log และส่วน Daily Log

ส่วนของ Index เปรียบเสมือน “สารบัญ” ที่บอกว่าอะไรอยู่ที่หน้าไหนของสมุดบัญทึก
ส่วนของ Future Log นั้นจะมีไว้สำหรับจดภาพรวมของสิ่งที่เราจะทำในแต่ละเดือน
ส่วนของ Monthly Log คือส่วนที่เราจะจดว่า เดือนนี้เราต้องทำอะไรบ้าง หรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
และส่วนของ Daily Log จะเป็นรายละเอียดของวันปัจจุบัน

นอกจากนั้นเรายังสามารถเพิ่ม Log พิเศษแยกต่างหาก
เพื่อใช้สำหรับวางแผน หรือติดตามพฤติกรรมของตัวเอง
เช่น การวางแผนสำหรับวันหยุด โปรเจกต์พิเศษที่อยากทำ รายการหนังสือที่อ่าน
รวมทั้งการติดตามพฤติกรรม (Habit Tracking) การติดตามอารมณ์ หรือการติดตามสุขภาพของตัวเอง

แล้วการจด Bullet Journal มีประโยชน์อย่างไร และต่างจากการจดบันทึกแบบปกติหรือไม่ ?

สิ่งสำคัญของการจดแบบ Bullet Journal ก็คือการกลับมาทบทวนสิ่งที่เราจดบันทึกลงไป
และการกรองสิ่งที่ไม่สำคัญออกด้วยการย้ายข้อมูลจากเดือนเก่า สู่เดือนใหม่ด้วย
ด้วยการทำเครื่องหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ตกหล่นอะไร
รวมถึงทิ้งส่วนที่อาจจะไม่ใช่เป้าหมายของเราอีกต่อไปแล้ว

การจด Bullet Journal จึงทำให้เรามองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เราจะทำ
และทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่จำเป็น
ทำให้เราสามารถตัดงานบางอย่างที่เสียเวลาออก
เพื่อให้ทำงานที่สำคัญกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งจะแตกต่างจากการจดบันทึกแบบธรรมดา ที่ถ้าหากเราจดแบบ To Do List ทั่วไป
เราก็จะเห็นเพียงแค่ว่า ในหนึ่งวันนั้นเราจะทำอะไร และอะไรสำเร็จบ้าง

ทั้งนี้ การจด Bullet Journal เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนในการจดเป็นอย่างมาก
แต่ถ้าหากว่าเราสามารถจดทุกอย่าง และทำตามสิ่งที่วางแผนไว้ได้
Bullet Journal ก็จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น..

References:
-https://www.usu.edu/academic-support/class/effective_note_taking#:~:text=Researchers%20found%20that%20if%20important,5%25%20chance%20of%20being%20remembered.
-https://bangkokhatyai.com/knowledge/view/56
-https://bulletjournal.com/pages/learn
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.