โดดเด่นกว่าร้านอื่น ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้ของ Whieng Chanfruit
FoodBusiness

โดดเด่นกว่าร้านอื่น ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้ของ Whieng Chanfruit

6 เม.ย. 2021
โดดเด่นกว่าร้านอื่น ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้ของ Whieng Chanfruit /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึงผลไม้เด่น ๆ ในเมืองจันทบุรี
ก็คงจะไม่พ้นเมืองร้อนอย่าง ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสละ 
และคนเกินกว่าครึ่งของจังหวัดจันทบุรี ก็ทำธุรกิจสวนผลไม้เป็นส่วนใหญ่ 
ซึ่งสำหรับคนทั่วไป ก็คงไม่สามารถแยกผลไม้ของแต่ละสวนออกจากกันได้
แต่สำหรับร้าน Whieng Chanfruit หรือ “เหวียง ผลไม้เมืองจันท์”
สามารถทำให้สินค้าจากสวนของตัวเอง โดดเด่นกว่าร้านอื่นได้ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้
จากการขายทุเรียนธรรมดา ๆ ที่กิโลกรัมละหลายร้อยบาท 
สู่การแปรรูป “เป็นทุเรียนกวน” ขายราคากล่องละเกือบ 1,000 บาท
ซึ่งใช้เนื้อทุเรียนไม่ถึง 1 กิโลกรัมด้วยซ้ำ
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณปุญญิศา ปริ่มผล หรือคุณเปรียว
ผู้ก่อตั้งร้านเหวียงและเจ้าของสวนผลไม้ที่เมืองจันทบุรี ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาทางเพจ
เรื่องราวของร้านเหวียง น่าสนใจอย่างไร ?
และเธอมีกลยุทธ์อะไรในการสร้างแบรนด์ ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวของร้านเหวียง เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน 
ตอนที่คุณเปรียวเริ่มขายผลไม้ผ่านอินสตาแกรมเป็นครั้งแรก
ซึ่งตอนนั้นเธอเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เท่านั้น 
โดยผลไม้ที่เธอนำมาขายก็เป็นผลไม้ ที่ส่งตรงจากจังหวัดจันทบุรี 
จากสวนที่บ้านเกิดของเธอ ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ทวด และมีอายุกว่า 100 ปี 
แต่ในเวลานั้น ร้านของคุณเปรียว ก็มียอดขายที่ไม่น่าพอใจนัก 
เพราะเธอไม่ได้คิดจะเปิดร้านนี้อย่างจริงจัง 
เพียงแค่อยากลองทดสอบตลาดออนไลน์ บวกกับหารายได้เสริมเท่านั้น
เธอจึงไม่ได้โฟกัสเรื่องการสร้างแบรนด์และการตลาดที่ต่อเนื่อง
รวมทั้งคุณพ่อของเธอ ก็ไม่ค่อยสนับสนุนการขายสินค้าออนไลน์เท่าไรนัก
เพราะที่สวนของเธอก็มีลูกค้ารายใหญ่อย่างชาวจีนอยู่แล้ว
ทำให้หลังจากที่เธอเรียนจบ เธอก็ห่างหายจากการขายผลไม้ออนไลน์ไป
จนกระทั่งเกิดวิกฤติโรคระบาดปีที่แล้ว 
จากที่เคยมีลูกค้าชาวจีนมารอซื้อผลไม้ที่สวนทุกวัน 
ก็กลายเป็นว่าต้องมารอลุ้น ว่าเมื่อไรคนจะเริ่มเดินทางข้ามประเทศได้
ทำให้ยอดการสั่งซื้อมีจำนวนลดน้อยลง จากข้อจำกัดต่าง ๆ 
รวมทั้งระยะเวลาในการขนส่งก็นานมากขึ้น
ทำให้ผลไม้บางชนิดไม่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้
เธอจึงต้องหาช่องทางอื่น ๆ ในการขายสินค้า
และแล้วการคืนชีพธุรกิจขายผลไม้ออนไลน์ เมื่อสมัยเรียนของเธอก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง 
แต่การกลับมาขายสินค้าในครั้งนี้ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 
เนื่องจากเจ้าของสวนผลไม้หลาย ๆ แห่ง เริ่มหันมาลงเล่นในตลาดออนไลน์เองมากขึ้น 
ทำให้การขายผลไม้บนอินสตาแกรมมีการแข่งขันที่สูง
แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่า สวนผลไม้ของเธอมีคุณภาพไม่แพ้กับเจ้าอื่น ๆ 
คุณเปรียวจึงตัดสินใจรีแบรนด์ และเปลี่ยนโฉมร้านผลไม้ของเธอใหม่ทั้งหมด 
ทั้งแพ็กเกจจิง โลโก รวมทั้งเพิ่มเรื่องราวของแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้น 
และการตัดสินใจในครั้งนี้ ก็สามารถทำให้เธอทำเงินได้ 7 หลัก 
หลังจากลงขายผลไม้เพียง 42 วันเท่านั้น 
ซึ่ง 2 ประเด็นหลักที่เธอให้ความสำคัญในการรีแบรนด์ของเธอ คือ 
อันดับแรก การสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า 
การรีแบรนด์ในครั้งนี้ คุณเปรียวตั้งใจที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียม
ดังนั้น “การสร้างคุณค่า” และ “ประสบการณ์” จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เนื่องจากสวนของเธอมีอายุกว่า 100 ปี ส่งต่อมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่รุ่นคุณปู่ทวด
โดยคนที่เริ่มต้นสร้างสวนผลไม้แห่งนี้ ก็คือ ปู่ของเธอที่ชื่อ “เหวียง”
ผู้ที่คอยทุ่มเทดูแลสวนผลไม้แห่งนี้ด้วยความรักมาโดยตลอด
เธอจึงตั้งใจนำเรื่องนี้มาสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า 
จึงตั้งชื่อร้านว่า “เหวียง” เพื่อสะท้อนว่าผลไม้ที่ลูกค้าได้รับ 
คัดสรรโดยชาวสวนที่รักผลไม้อย่างแท้จริง
แต่นอกจากเรื่องราวเล็ก ๆ นี้ จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับแบรนด์แล้ว 
เธอยังนำเรื่องราวมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อีกด้วย 
มีครั้งหนึ่ง ที่คุณเปรียวเคยได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง 
ส่งผลให้มังคุดของเธอได้รับความเสียหาย 
และเนื่องจากมังคุด เป็นผลไม้เปลือกแข็ง ดังนั้นการตรวจเช็กภายในจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ถึงแม้ภายนอกของมังคุดจะดูสวยงามก็ตาม แต่ภายในอาจจะเป็นยางหรือมีเนื้อแก้วที่ไม่น่าทานก็ได้
คุณเปรียวจึงได้แก้ไขปัญหาด้วยการขายมังคุดที่มีขนาดเล็กลงแทน
แต่มังคุดของเธอก็ไม่ได้เล็กจนมีขนาด “ไซซ์ดอก” หรือขนาดที่เล็กที่สุด 
อย่างไรก็ตามถ้าพูดว่าเป็น “มังคุดขนาดเล็ก” 
ลูกค้าบางคนก็อาจจะเข้าใจผิด และเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีได้ 
เธอจึงได้หาคำเรียกใหม่ และเพิ่มเรื่องราวให้กับตัวสินค้าให้ดูน่าสนใจมากขึ้น 
ซึ่งก็ คือ “มังจิ๊ด” โดยมาจากคำว่า “เล็กกระจิ๊ดริด”
ที่คุณเปรียวมักไว้เรียกกับคุณพ่อบ่อย ๆ ตั้งแต่เด็ก 
ใครจะไปคิดว่ารายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้ จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุดของเธอได้
และอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจ ก็คือ “ทุเรียนกวน” 
ที่ทำมาจากทุเรียนหมอนทองสอดไส้ด้วยถั่วแมคคาเดเมีย
เพิ่มคุณค่าด้วยการขึ้นรูปเป็นลักษณะที่เหมือนกับ “ถุงทองคำ” แปะด้วยทองคำเปลว
เพื่อวางขายสำหรับเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลตรุษจีน 
และยังเป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัด เพียงแค่ 50 กล่องเท่านั้น
ที่น่าตกใจก็คือ สินค้าตัวนี้ราคาตกกล่องละ 990 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง
แต่ก็สามารถขายหมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 วันเท่านั้น
เท่ากับว่าเธอสามารถทำยอดขายได้เกือบ 50,000 บาท เลยทีเดียว 
มากไปกว่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อสินค้ากับเธอ
ยังเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อสินค้ากับเธอเกือบทุก ๆ เดือน
แล้วอะไรคือกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าของเธอประทับใจจนกลับมาซื้อใหม่ ?
ปัจจุบันผลไม้เป็นเหมือนสินค้า ที่คนมักซื้อไปเป็นของขวัญและฝากให้กับญาติผู้ใหญ่
ดังนั้นคุณเปรียวจึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเกรดผลไม้อย่างมาก
ซึ่งหากสินค้าตัวไหนได้รับความเสียหาย แม้เพียงเล็กน้อย 
คุณเปรียวจะคืนเงินให้กับลูกค้าเต็มจำนวนทุกกรณี
รวมทั้งเธอยังใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ 
อย่างทุเรียน เป็นสินค้าที่คำนวณระยะเวลาในการส่งยากมาก
โดยทุเรียนต้องยังดิบตอนจัดส่ง และต้องสุกพร้อมแกะรับประทานที่บ้านลูกค้า 
ดังนั้นคุณเปรียว จึงทำสมุดคู่มือการรับประทาน แถมไปพร้อมกับไม้เคาะ ในทุก ๆ กล่อง
เพื่อให้ลูกค้าเอาไว้เช็กสภาพระยะเวลาของทุเรียน
รวมทั้งยังบอกสูตรและวิธีทำขนมทุเรียนข้าวเหนียว
ในกรณีที่ทุเรียนถูกปล่อยไว้สุกเกินไปหรือมีเนื้อที่เละแล้ว
แม้ว่าการรับผิดชอบทั้งหมดนี้ จะต้องแลกกับการสูญเสียรายได้บางส่วนไป
แต่คุณเปรียวก็ไม่เสียดาย เพราะเธอให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้ามากกว่า 
และท้ายที่สุดแล้ว ความพึงพอใจของลูกค้า 
ก็จะส่งผลดีในระยะยาวกับแบรนด์ของเธอในอนาคต
และเรื่องราวการสร้างร้านผลไม้ออนไลน์ 
ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่บ้านในตอนแรก
ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่คุณเปรียวทำอยู่อาจจะเหนื่อย 
และใช้เวลาในการสร้างรายได้นานกว่าการขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง
แต่ในอนาคตธุรกิจของเธอก็จะทำเงินได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน 
เพราะเธอสามารถสร้างและยืนด้วยขาของตัวเอง 
สำหรับใครที่สนใจ อยากรู้ว่าผลไม้ที่มี “เรื่องราว” เป็นอย่างไร
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อินสตาแกรม: whieng.chanfruit
Reference:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณปุญญิศา ปริ่มผล ผู้ก่อตั้งร้าน Whieng
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.