Picsart แอปแต่งรูป-วิดีโอ สตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่สร้างเพื่อสนับสนุนความฝันของลูกสาว
Business

Picsart แอปแต่งรูป-วิดีโอ สตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่สร้างเพื่อสนับสนุนความฝันของลูกสาว

5 ธ.ค. 2024
Picsart แอปแต่งรูป-วิดีโอ สตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่สร้างเพื่อสนับสนุนความฝันของลูกสาว /โดย ลงทุนเกิร์ล
“พ่อคะ เขาบอกว่ารูปที่หนูวาดมันแย่ จนหนูไม่อยากวาดรูปต่อแล้ว”
ถ้าเราเจอกับคำพูดแบบนี้ เราจะให้คำแนะนำอย่างไรคะ ?
บางคนอาจจะพยายามให้กำลังใจหนูน้อยคนนี้
แต่สำหรับคุณ​ Hovhannes Avoyan ผู้เป็นพ่อ แค่นี้คงธรรมดาเกินไป เพราะเขาได้สร้าง Picsart แอปพลิเคชันแต่งรูปขึ้น เพื่อให้ลูกสาวได้ใช้ฝึกฝนฝีมือ
แต่กลับประสบความสำเร็จ ถึงขั้นที่ว่า Picsart ได้กลายเป็นยูนิคอร์น และเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่ากลัวของ Adobe
แล้ว Picsart ก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Picsart คือ แอปพลิเคชันแต่งรูป-วิดีโอ ที่ไม่ได้มีฟีเชอร์แค่ปรับแต่งสี หรือใส่ฟิลเตอร์รูปถ่ายเท่านั้น แต่เรายังสามารถสร้างภาพคอลลาจ, วาดภาพ และเพิ่มลูกเล่นอื่น ๆ ได้เหมือนกับมือโปร
ซึ่งคนที่คิดค้นแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา ก็คือคุณ​ Hovhannes Avoyan นักธุรกิจชาวอาร์เมเนีย ผู้ปลุกปั้นบริษัทสตาร์ตอัปมากมาย ก่อนที่จะมาปลุกปั้น Picsart
อย่างที่กล่าวไปว่าจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชัน Picsart มาจาก ความต้องการที่จะ “ผลักดันความฝันของลูกสาว”
ซึ่งสาเหตุที่คุณ Avoyan จริงจังเกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็เพราะเขาไม่อยากให้ลูกสาวทิ้งความฝัน เหมือนกับเขาในอดีต
เพราะในตอนที่เขายังเป็นเด็ก เขาใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ คุณ Avoyan จึงตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านศิลปะเพื่อเดินตามความฝันนั้น
แต่หนทางสู่เป้าหมายกลับไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะเขาสอบไม่ผ่าน และถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน
ประกอบกับสภาพสังคมในอาร์เมเนียตอนนั้น ถ้าอยากมีหน้าที่การงานที่ดี ก็ต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็เป็นนักวิชาการ คุณแม่ของคุณ Avoyan จึงแนะนำให้เขามุ่งไปในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์แทน
คุณ Avoyan จึงตัดสินใจเข้าศึกษาที่ State Engineering University of Armenia ตามที่คุณแม่ต้องการ นอกจากนั้นยังเรียนต่อปริญญาโทที่ American University of Armenia สาขารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
โดยในตอนนั้น ถือเป็นยุคแรก ๆ ของ AI และ Machine Learning เลยก็ว่าได้ เขาจึงใช้โอกาสนี้ ก่อตั้ง Cedit บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ในปี 1996
ซึ่งคุณ Avoyan ก็ปลุกปั้นบริษัทของเขา จนถูก Lycos บริษัทเซิร์ชเอนจินรุ่นบุกเบิกขอซื้อไปในปี 2000
ต่อมาในปี 2005 คุณ Avoyan ก็ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาอีกครั้ง ชื่อ Sourcio ทำธุรกิจผู้ให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะขายให้กับ HelpSystems ในปี 2016
ซึ่งในระหว่างนั้น เขาก็ได้ก่อตั้ง Monitis เว็บไซต์ที่ให้บริการติดตามการทำงาน ในปี 2007 และขายให้กับ TeamViewer/GFI Software ในปี 2011
และในปี 2011 นี้เอง ก็เป็นปีเดียวกับที่ Zara ลูกสาววัย 11 ปี มาตัดพ้อว่าจะล้มเลิกความฝันในการวาดรูป
เนื่องจากลูกสาวของเขาถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการวาดรูป จนเธอหมดความมั่นใจในการสร้างผลงานต่อ
ซึ่งนั่นทำให้คุณ Avoyan นึกย้อนไปถึงตอนที่เขาล้มเลิกการเดินทางในวงการศิลปะที่เขารัก เพียงเพราะไม่ได้รับการสนับสนุน
ดังนั้นคุณ Avoyan จึงได้เขียนโปรแกรมที่มีเครื่องมือแค่ไม่กี่ชิ้น และไม่ซับซ้อน สำหรับให้ลูกสาวได้ใช้ในการพัฒนาทักษะการวาดภาพของเธอ
หลังจากที่คุณ Avoyan พัฒนาไปได้สักพัก เขาก็เริ่มรู้สึกว่าแอปพลิเคชันนี้ ก็อาจจะเป็นที่ต้องการในตลาดด้วยเช่นกัน
คุณ Avoyan จึงตัดสินใจพัฒนา Picsart แอปพลิเคชันแต่งรูปและวิดีโอ ที่มีเครื่องมือครบวงจรแต่ไม่ซับซ้อน สู่ตลาดเทคโนโลยี ร่วมกับคุณ Artavazd Mehrabyan และคุณ Mikayel Vardanyan
โดย Picsart เปิดตัวครั้งแรกบนระบบ Android เนื่องจากทีมวิศวกรซอฟต์แวร์ของเขาเชี่ยวชาญการใช้ภาษา Java มากกว่า บวกกับเมื่อ 10 ปีก่อน iPhone ถือเป็นสินค้าหายากในประเทศอาร์เมเนีย
แต่การเลือกเปิดตัว Picsart บนระบบ Android กลับกลายเป็นผลดี ที่ทำให้แอปพลิเคชันเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากตอนนั้นไม่ค่อยมีแอปพลิเคชันแต่งรูปใน Android ดังนั้น Picsart จึงไร้คู่แข่งในตลาด และกลายเป็นแอปพลิเคชันฮอตฮิตได้ง่าย ๆ
แต่การที่ Picsart ติดอยู่ในแอปพลิเคชันเด่นของ Android ก็ไม่ใช่เพราะความโชคดีเท่านั้น แต่มาจากกลยุทธ์การโปรโมตจากทีมงานหลังบ้านด้วยเช่นกัน
โดย Picsart จะมีการอัปเดตระบบเป็นประจำทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อให้อยู่ในหน้าแรกของ Play Store รวมทั้งทำให้ผู้ใช้งานตั้งตารอ และหมั่นเข้าไปเช็กฟีเชอร์ใหม่ ๆ ในแอปพลิเคชันบ่อย ๆ
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Picsart ก็มีให้ดาวน์โหลดบนระบบปฏิบัติการ iOS แล้ว
โดยในปี 2020 Picsart มียอดดาวน์โหลดรวมมากกว่า 1,000 ล้านครั้ง จาก 180 ประเทศทั่วโลก
และมีรายได้มาจากโมเดลฟรีเมียม หรือให้ผู้ใช้งานเสียค่าบริการ หากต้องการใช้ฟีเชอร์พิเศษ ซึ่งในปี 2021 รายได้ของแอปพลิเคชัน ก็ทะลุ 3,425 ล้านบาท
และในปีเดียวกันนี้ บริษัทยังสามารถระดมทุนไปได้ 4,450 ล้านบาท ใน Series C โดยได้บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ อย่าง SoftBank, Sequoia, G Squared, Tribe Capital, Graph Ventures และ Siguler Guff & Company ตบเท้าเข้าร่วมลงทุนด้วย
ทำให้ Picsart ถูกประเมินมูลค่าบริษัทว่าสูงถึง 51,385 ล้านบาท เลยทีเดียว..
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้แอปพลิเคชัน Picsart ประสบความสำเร็จ จนได้ชื่อว่าจะมาเป็นคู่แข่งของ Adobe ซึ่งเป็นโปรแกรมแต่งภาพอันดับต้น ๆ ของโลกได้
อันดับแรก คือ ฟังก์ชันครบครัน แต่ “ไม่ซับซ้อน”
เพราะนอกจาก Picsart จะสามารถปรับแต่งสีแล้ว ยังเพิ่มลูกเล่นอื่น ๆ เช่น การตัดต่อ, ลบพื้นหลัง, วาดเขียนลงไปในผลงาน, สร้างงานคอลลาจ รวมทั้งยังสามารถตัดต่อและตกแต่งวิดีโอได้อีกด้วย
ที่สำคัญคือ “ใช้งานง่าย” แม้คนที่ไม่มีสกิลในการตกแต่งรูป ก็สามารถใช้นิ้วจิ้มหน้าจอ ผ่านเครื่องมือของ Picsart แล้วได้รูปภาพที่สวยงามเหมือนมืออาชีพได้เลย
อันดับต่อมา คือ ราคาที่ย่อมเยา
Picsart มีโมเดลธุรกิจแบบ “ฟรีเมียม” หรือการเปิดให้ลูกค้าใช้บริการแบบ “ฟรี” ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่หากเราต้องการเข้าถึงเครื่องมือพิเศษ ก็ต้องสมัครสมาชิก Picsart Plus ซึ่งมีราคา 170 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง และคุ้มค่าเลยทีเดียว เมื่อแลกกับเครื่องมือและการใช้งาน ที่สามารถแก้ไขภาพ วาดภาพ และตัดต่อวิดีโอได้ในแอปพลิเคชันเดียว
จนกลายเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่หลาย ๆ คนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีฟังก์ชันครบครัน จนสามารถใช้แทนแอปพลิเคชันแต่งภาพของ Adobe ได้เลยทีเดียว
สำหรับกรณีของ Picsart ก็คงไม่มีใครคิดว่า จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างการสร้างแอปพลิเคชันแต่งรูป เพื่อต้องการสนับสนุนความฝันของลูกสาว จะสามารถต่อยอด และกลายเป็นแอปพลิเคชันแต่งรูปที่ทั่วโลกเลือกใช้
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Picsart อาจจะไม่ได้สร้างเพื่อสานต่อความฝันของลูกสาวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะแอปพลิเคชัน Picsart เองก็ได้สานต่อความฝันธุรกิจด้านศิลปะของคุณ Avoyan ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นลองนำสิ่งที่เราเรียนมาปรับใช้กับอาชีพที่เราอยากทำ ไม่แน่ว่ามันอาจจะนำเราไปสู่เส้นทางธุรกิจใหม่ อย่างเช่นกรณีของคุณ Avoyan ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.