คนเกาหลีใต้ ซื้อรถเข็นสัตว์เลี้ยง แซงหน้ารถเข็นเด็ก
Business

คนเกาหลีใต้ ซื้อรถเข็นสัตว์เลี้ยง แซงหน้ารถเข็นเด็ก

11 ก.ค. 2024
คนเกาหลีใต้ ซื้อรถเข็นสัตว์เลี้ยง แซงหน้ารถเข็นเด็ก /โดย ลงทุนเกิร์ล
จากข้อมูลของ Gmarket แบรนด์ E-Commerce ยอดนิยมของประเทศเกาหลีใต้ เผยว่าช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ยอดขายรถเข็นสำหรับสัตว์เลี้ยง แซงหน้ารถเข็นเด็กไปแล้ว
โดย 100% ของยอดขายรถเข็นทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม Gmarket แบ่งเป็นยอดขายรถเข็นสำหรับเด็ก 43% และอีก 57% เป็นรถเข็นสำหรับสัตว์เลี้ยง
ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในเกาหลีใต้ ก็มีตัวเลขที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
-ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2023 อุตสาหกรรมการแพทย์และสัตวแพทย์รายงานว่า จำนวนโรงพยาบาลสัตว์ มีจำนวนมากกว่าโรงพยาบาลเด็กถึง 2 เท่า
-อุตสาหกรรมอาหาร ที่ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงบนแพลตฟอร์ม Gmarket แซงหน้ายอดขายนมผงสำหรับเด็กทารก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023
ข้อมูลเหล่านี้ สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของเกาหลีใต้ ที่เผยว่าชาวเกาหลีใต้มากกว่าร้อยละ 25 เลี้ยงสัตว์เลี้ยง และจำนวนครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จากปี 2012 ที่มีเพียง 3.6 ล้านครัวเรือน
แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านครัวเรือน
นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญที่แสดงถึง อัตราการเลี้ยงสัตว์ในเกาหลีใต้ที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
ซึ่งปัจจุบัน เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดที่น้อยที่สุดในโลก
อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ต่อผู้หญิง 1 คน ของเกาหลีใต้
ปี 2000 อัตราการเกิด 1.48 คน
ปี 2010 อัตราการเกิด 1.23 คน
ปี 2020 อัตราการเกิด 0.84 คน
ปี 2023 อัตราการเกิด 0.72 คน
พอเป็นแบบนี้ จำนวนเด็กเกิดใหม่รวมของประเทศเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2000 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 640,000 คน
ปี 2010 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 470,000 คน
ปี 2020 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 270,000 คน
ปี 2023 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 230,000 คน
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีประชากร 51.7 ล้านคน
หน่วยงานที่ดูแลด้านประชากรศาสตร์ระบุว่า ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ประชากรเกาหลีใต้จะลดลงเหลือเพียง 36 ล้านคน ภายใน 48 ปี..
เรื่องนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า การลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว กระทบทั้งฝั่งผู้ผลิต คือขาดแรงงาน และฝั่งผู้บริโภค คือขาดความต้องการในการใช้สินค้า
นอกจากนี้ จำนวนคนทำงานที่ลดลง ยังมีโอกาสที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ จนทำให้เป็นภาระของรัฐบาลในการจัดหางบประมาณมาดูแลในอนาคต
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงพยายามออกมาตรการกระตุ้นให้ชาวเกาหลีใต้มีลูกมากขึ้น เช่น การขยายเวลาการลาคลอดบุตรแบบมีเงินเดือน การให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิด รวมทั้งแคมเปญทางสังคมที่สนับสนุนให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน
ซึ่งมีการเปิดเผยในปี 2022 ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ใช้เงินไปกว่า 7.3 ล้านล้านบาท เพื่อพยายามเพิ่มจำนวนประชากรในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2006
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า แค่เงินงบประมาณที่ทุ่มลงมา อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้มากนัก เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่ของเกาหลีใต้ยังคงลดลงเรื่อย ๆ
เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง คือ วัฒนธรรมการทำงานที่หนัก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการแต่งงานและความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงความผิดหวังที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่
แนวโน้มการลดลงของจำนวนประชากรที่เกาหลีใต้ คล้าย ๆ กับอีกหลายประเทศ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า อัตราการเกิดเพื่อทดแทนประชากรที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ 2.1 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
แต่ปัจจุบัน อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ 1.16 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
เท่ากับว่า แม้แต่ประเทศไทยของเราเองนั้น ก็จะประสบปัญหาประชากรลดลงในอนาคตเช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.