Economy
รู้จักเมือง Pangyo ซิลิคอนแวลลีย์แห่งเกาหลีใต้ ที่ถูกพูดถึงในซีรีส์ Lovely Runner
17 มิ.ย. 2024
รู้จักเมือง Pangyo ซิลิคอนแวลลีย์แห่งเกาหลีใต้ ที่ถูกพูดถึงในซีรีส์ Lovely Runner /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึงซีรีส์มาแรงในช่วงนี้จะต้องมีชื่อของซีรีส์ย้อนเวลาอย่าง Lovely Runner ที่เพิ่งฉายตอนจบไปปลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีกระแสในโซเชียลอย่างต่อเนื่องจากความน่ารักของนักแสดง
สำหรับเนื้อเรื่องคร่าว ๆ ของซีรีส์ Lovely Runner นั้นจะเป็นเรื่องราวของแฟนคลับสาวที่ได้ย้อนเวลาไปในอดีตเพื่อแก้ไขโชคชะตาและช่วยชีวิตไอดอลคนโปรดของเธอที่เสียชีวิตลงอย่างไม่ทันตั้งตัวในยุคปัจจุบัน
โดย “อิมซล” นางเอกของเรื่องย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2008 และเมื่อดูไปจนถึงอีพีที่ 2 จะมีช่วงหนึ่งที่แม่ของนางเอกพูดกับเถ้าแก่เกี่ยวกับที่ดินใน Pangyo (พันกโย) เมืองในจังหวัดคยองกีโด
ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เถ้าแก่แนะนำให้แม่ของนางเอกขายกิจการร้านเช่าวิดีโอแล้วไปซื้ออะพาร์ตเมนต์ในเมือง Pangyo ที่มีแนวโน้มว่าราคาที่ดินจะพุ่งสูงขึ้นหากรถไฟใต้ดินสร้างเสร็จ
แต่แม่นางเอกของเรากลับบอกว่ามันคือที่ราบเปล่า ๆ ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ และถ้าซื้อไปก็คงไม่เกิดประโยชน์
วันนี้ เรามาดูกันว่าทำไมไม่ใช่เรื่องผิดที่แม่ของนางเอกจะคิดแบบนั้น ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เพราะกว่าที่เกาหลีใต้จะเจริญอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐในการ “พัฒนาเมือง”
เนื่องจากเดิมที เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยในปี 1944 ประชากรกว่า 71% ยังอยู่ในภาคการเกษตร และมีเพียง 13.2% เท่านั้นที่อาศัยในเขตเมือง
และยิ่งต้องเผชิญกับเหตุการณ์สงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1950-1953 ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
โดยหลังสงครามสิ้นสุดลงส่งผลให้ประชากรกว่า 72.3% อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
จนเกิดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี หรือ Five-Year Economic Development Plan ฉบับแรกในปี 1962 เพื่อให้เกาหลีใต้สามารถพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออกอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาแรงงานมีฝีมือและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
แน่นอนว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้อย่างมาก และมาพร้อมกับการขยายตัวของเมือง ทำให้มีประชากรไหลเข้ามาในเมืองมากขึ้น เมืองหลวงอย่างกรุงโซลก็ขยายตัวตาม
นำไปสู่แนวคิดการลดช่องว่างระหว่างพื้นที่เขตเมืองหลวงและชานเมืองในช่วงทศวรรษ 2000 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดในเมืองหลวง และการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัย
และเมือง Pangyo ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองใหม่ หรือ New Town Projects เพื่อเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ดึงดูดบริษัทต่าง ๆ เข้ามา และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในพื้นที่เมืองใหม่ นอกเหนือจากในเมืองหลวงอย่างกรุงโซล
ซึ่งปัจจุบันเมือง Pangyo ก็ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของ “Pangyo Techno Valley” หรือที่เรียกกันว่าซิลิคอนแวลลีย์แห่งเกาหลีใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย Pangyo Techno Valley เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีกว่า 1,300 แห่ง มีบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่หลายคนคุ้นชื่อในพื้นที่แห่งนี้ เช่น Samsung, LG, SK Telecom, Nexon และ Kakao
อีกทั้งมีรายได้รวมทั้งเมืองกว่า 3.45 ล้านล้านบาทต่อปี
ก็แทบไม่น่าเชื่อว่า ผลจากนโยบายพัฒนาเมืองเพื่อลดความแออัดของเมืองหลวง ได้ทำให้เมือง Pangyo ถูกพัฒนาจากพื้นที่ว่างเปล่าตามที่แม่ของนางเอกพูดถึง
มาทุกวันนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่สำคัญ และที่ตั้งคอนโดหรูมากมาย..
References:
-https://www.worldbank.org/en/events/2024/04/03/report-launch-event-a-story-of-urban-development-in-korea-from-overconcentration-toward-balanced-territorial-development
-https://www.koreatechdesk.com/pangyo-techno-valley-a-thriving-startup-hub-in-korea/
-https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=gross_regional
-https://seoul.thaiembassy.org/th/content/
-https://www.worldbank.org/en/events/2024/04/03/report-launch-event-a-story-of-urban-development-in-korea-from-overconcentration-toward-balanced-territorial-development
-https://www.koreatechdesk.com/pangyo-techno-valley-a-thriving-startup-hub-in-korea/
-https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=gross_regional
-https://seoul.thaiembassy.org/th/content/