ส่องธุรกิจ Golden Goose รองเท้าหลักหมื่นบาท ที่ดูเก่าตั้งแต่แกะกล่อง
Business

ส่องธุรกิจ Golden Goose รองเท้าหลักหมื่นบาท ที่ดูเก่าตั้งแต่แกะกล่อง

2 ก.พ. 2024
ส่องธุรกิจ Golden Goose รองเท้าหลักหมื่นบาท ที่ดูเก่าตั้งแต่แกะกล่อง /โดย ลงทุนเกิร์ล
แน่นอนว่า การซื้อรองเท้าสนีกเกอร์สักคู่หนึ่ง
เรามักจะคาดหวังว่าเมื่อแกะกล่องแล้ว รองเท้าจะต้องใหม่เอี่ยม ไม่มีรอยตำหนิ
แต่กรณีนี้ อาจไม่สามารถใช้ได้กับ “Golden Goose” แบรนด์รองเท้าสุดหรูจากอิตาลี ที่สนีกเกอร์ของแบรนด์นี้ มีรูปลักษณ์ภายนอกยับเยิน ราวกับผ่านการใช้งานมาแล้ว
ที่น่าสนใจคือ แบรนด์รองเท้าใหม่ แต่สภาพไม่ใหม่นี้
กลับขายดีเป็นอย่างมาก การันตีความฮิตด้วยยอดขายราว 16,000 ล้านบาท ใน 9 เดือนแรกของปี 2023
แถมยังตั้งเป้าจะ IPO ในตลาดหลักทรัพย์อิตาลี
ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024 อีกด้วย
เรื่องราวของ Golden Goose น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มของ ​Golden Goose เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
โดยคู่รักที่ชื่อว่า คุณ Francesca Rinaldo และคุณ Alessandro Gallo
ซึ่งทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบ จากแนวคิด Kintsukuroi ของญี่ปุ่น หรือแนวคิดเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจากความล้มเหลว ยอมรับตัวตนและความผิดพลาด
ทำให้เห็นว่า วัตถุจะสวยงามขึ้น เมื่อมีการสึกหรอ
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมองว่าร่องรอยต่าง ๆ บนรองเท้า เป็นเหมือนไดอารี สะสมความรู้สึก และความทรงจำของผู้ที่สวมใส่
พวกเขาจึงเริ่มการประดิษฐ์สนีกเกอร์ขึ้นมา ภายใต้คอนเซปต์ “Perfectly Imperfect” หรือ “ความไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบ”
ส่วนสาเหตุที่ ​Golden Goose ขายสินค้าในราคาสูง เป็นเพราะ การผลิตสนีกเกอร์ทุกคู่จะทำด้วยมืออย่างพิถีพิถัน โดยช่างฝีมือชาวอิตาลี
อีกทั้งผลิตจากวัตถุดิบคัดสรรคุณภาพ เช่น หนังลูกวัวฟูลเกรนและผ้าฝ้าย มาทำเชือกผูกและซับในรองเท้า
ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของรองเท้าใหม่คุณภาพพรีเมียม แต่ภายนอกดูเก่า นั่นเอง
แน่นอนว่าความแตกต่างของสนีกเกอร์ Golden Goose ทำให้แบรนด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกตั้งคำถามว่าจะมีใครอยากซื้อรองเท้าที่ดูเก่าในราคาที่สูงขนาดนี้
จนกระทั่งปี 2007
Golden Goose ได้วางขายสนีกเกอร์รุ่น “Super-Star” ที่มีลวดลายดาวห้าแฉก ราคาเริ่มต้นประมาณ 17,600 บาท
โดยมีเซเลบริตี เช่น คุณ Taylor Swift และคุณ Selena Gomez หยิบมาสวมใส่ตามท้องถนน จนโด่งดัง และกลายเป็นสินค้าขายดี
ซึ่งก็ตอบคำถามที่ว่า คนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าแบรนด์นี้ คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง และอยากได้สนีกเกอร์ที่มีคุณภาพสักคู่ ที่ไม่ต้องกังวลว่ารองเท้าจะเปื้อนรอยอะไร
นับจากนั้น Golden Goose ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
และช่วงต้นปี 2017 บริษัทไพรเวตอิควิตี Carlyle Group ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Golden Goose
แต่ 3 ปีถัดมา Carlyle Group ก็ได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มบริษัท Permira ด้วยมูลค่า 50,000 ล้านบาท
จากนั้นเป็นต้นมา Golden Goose ก็เริ่มแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้น ทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย เช่น เสื้อผ้า, กระเป๋า, เครื่องประดับ และรองเท้าประเภทอื่น ๆ
จนปัจจุบัน Golden Goose มีฐานลูกค้าหลัก 80% เป็นกลุ่ม Gen Z และ Millennials ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ซึ่งแบรนด์ตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเพิ่งจะเปิดสาขาในประเทศไทยใจกลางกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์
ที่สำคัญ Permira ยังตั้งเป้านำ Golden Goose เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์อิตาลี ภายในครึ่งแรกของปี 2024 โดยคาดว่ามีมูลค่าการระดมทุนราว 39,000 ล้านบาท
แล้วผลประกอบการย้อนหลังเป็นอย่างไร ?
ปี 2022 มียอดขาย 19,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า
9 เดือนแรก ปี 2023 มียอดขาย 16,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
แถมบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ยังได้ขยับอันดับความน่าเชื่อถือของ Golden Goose จาก “B” เป็น “B+” เนื่องจากแบรนด์มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รักษาความสามารถในการทำกำไรได้ดี และมีภาระหนี้ลดลงอย่างมาก
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ Golden Goose กลายเป็นที่จับตาของนักวิเคราะห์และนักลงทุนหลาย ๆ คน
บ้างก็นำไปเปรียบเทียบกับหุ้นแบรนด์รองเท้า Birkenstock ที่ถูกตั้งความคาดหวังไว้สูง เมื่อ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก แต่ราคาปิดวันแรก กลับร่วงลงมาต่ำกว่าราคา IPO
แล้ว Golden Goose จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุนได้หรือไม่ ?
หรือผลลัพธ์หลังเข้า IPO วันแรก จะพลาดเป้า ซ้ำรอยเหมือนกรณีของ Birkenstock..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.