“รับจ้างมูฯ” เทรนด์มาแรง เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมจ้างถวายของบูชา จ้างแก้ชง จนกลายเป็นธุรกิจ
Business

“รับจ้างมูฯ” เทรนด์มาแรง เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมจ้างถวายของบูชา จ้างแก้ชง จนกลายเป็นธุรกิจ

5 ต.ค. 2023
“รับจ้างมูฯ” เทรนด์มาแรง เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมจ้างถวายของบูชา จ้างแก้ชง จนกลายเป็นธุรกิจ /โดย ลงทุนเกิร์ล
“I told พระแม่ลักษมี” เทรนด์ขอแฟนจากพระแม่ลักษมีตามบรีฟ รวมไปถึง วันคเณศจตุรถี ฤกษ์มงคลบูชาพระพิฆเนศวรเสริมพลัง
ตัวอย่างคอนเทนต์สายมูฯ ที่ถูกพูดถึงมากมายในโซเชียลมีเดียเร็ว ๆ นี้ สะท้อนว่า วงการมูเตลู ยังได้รับความนิยมในสังคมไทยแบบไม่เสื่อมคลาย แม้ในยุคดิจิทัล
ที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่องของความศรัทธา แต่เป็นการสร้างรายได้ ต่อยอดจากแวดวงสายมูฯ
อย่าง “การรับจ้างมูฯ” หรือธุรกิจ “รับฝากถวายของบูชา”
ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ วอลล์เพเปอร์สายมูฯ หรือเครื่องประดับสายมูฯ ที่ฮิตมาก่อนหน้านี้
แล้วอะไรทำให้ บริการรับจ้างมูฯ ได้รับความนิยม จนกลายเป็นธุรกิจสร้างเงินได้ในปัจจุบัน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกก่อนว่า “การรับจ้างมูฯ” ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ จะนิยามถึงการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อ เช่น การรับฝากถวายของบูชา, รับจ้างใส่บาตร, รับจ้างแก้ชง, รับจ้างกินเจแทน
แม้จะมีคำถามที่ถกเถียงกันในหลายมุมมองว่า เรื่องเหล่านี้ สามารถทำแทนกันได้จริงหรือ ขอละเรื่องนี้ไว้ในฐานะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
แต่จะพาไปดูในมุมมองทางธุรกิจและการตลาด ที่ทำให้ธุรกิจรับจ้างมูฯ เหล่านี้ เติบโตในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
หากจะถามว่าการรับจ้างมูฯ ได้รับความนิยมแค่ไหน ?
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น-เพจเฟซบุ๊ก “มูเตเวิร์ล Mootae World” ที่มีคนติดตามหลักแสนบัญชี มีคนใช้บริการฝากถวายของพระแม่ลักษมี ในฤกษ์มงคลช่วงวันวราลักษมีวรัทตัม มากกว่า 1,000 ชุดในวันเดียว รวมถึงมีบริการรับจ้างมูฯ ครบวงจรไกลถึงฮ่องกง
-Sattha.online (ศรัทธาออนไลน์) ผู้ให้บริการขอพร และแก้บนออนไลน์ ผ่าน LINE Chatbot ที่เคลมว่าให้ประสบการณ์เหมือนไปทำเองถึงที่
มีดีกรีเป็นถึงผู้ชนะจากการแข่งขัน LINE HACKATHON 2020
-บัญชี Twitter (X) รับฝากถวายของบูชาพระพิฆเนศวร ที่ใช้วิธีโปรโมตผ่าน #บูชาเทพbyDesirposter มีผู้ติดตามมากกว่า 42,000 บัญชี
แล้วการรับจ้างมูฯ สร้างรายได้อย่างไร ?
ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างมูฯ แบบไหน การสร้างรายได้ก็มีขั้นตอนหลัก ๆ คือ มีแพ็กเกจให้เลือกรับบริการ ตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงหลายพันบาท ขึ้นอยู่กับของที่นำไปถวาย และสถานที่ที่ไป
จากนั้นผู้ให้บริการ ก็เตรียมของไปถวายตามโจทย์ที่ได้รับ โดยส่วนใหญ่จะให้แจ้งชื่อ และคำอธิษฐาน เพื่อขอพรแทนเจ้าตัวได้ด้วย
และสิ่งที่ผู้ใช้บริการ จะได้รับกลับมา ก็คือความสบายใจ พร้อมคลิปวิดีโอ หรือภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าผู้ให้บริการ ทำภารกิจแทนเราเรียบร้อยแล้ว
แล้วอะไรทำให้ธุรกิจรับจ้างมูฯ ได้รับความนิยมในยุคนี้ ?
-แนวคิดที่เปลี่ยนไป
ต้องย้ำอีกครั้งว่า การใช้บริการนี้เป็นความสบายใจและความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริการนี้ได้รับความนิยมในยุคนี้ ก็คือ “มุมมองที่แตกต่าง”
ในอดีตอาจมองว่าการสักการะ ถวายของบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้แต่การทำบุญ ต้องทำด้วยตัวเองเท่านั้น
แต่สำหรับมุมของผู้ใช้บริการรับจ้างมูฯ มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิด หากมีความศรัทธา แต่ไม่มีโอกาสเดินทางไปด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีเวลา อยู่ไกล หรือสาเหตุอื่น ๆ เพราะสิ่งที่ส่งผ่านไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือความศรัทธา คำอธิษฐาน และสิ่งของที่ซื้อด้วยเงินของเรา เช่นเดิม เพียงแค่มีตัวกลางเข้ามาช่วยให้สะดวกขึ้นเท่านั้น
-Lazy Economy
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การรับจ้างมูฯ เกิดขึ้นได้ คือการตลาดเพื่อคนขี้เกียจ (Lazy Economy) ซึ่งเป็นเทรนด์การตลาดที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เคยทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2562
ที่พบว่าธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา คือกลุ่มสินค้าและบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกของลูกค้าได้ดี
โดย 1 ใน 5 ประเภทธุรกิจครองใจคนขี้เกียจได้ ก็คือ ธุรกิจประเภททำแทนกันได้ (On Demand Service) ที่มีสารพัดบริการผุดขึ้นมาให้เห็น เพื่อเอาใจกลุ่มคนรักความสะดวกสบาย
เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน บริการซื้อของแทน บริการรับจองคิวร้านอาหาร รวมไปถึงบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ที่เราใช้งานกันอยู่แทบทุกวัน
เมื่อมีแนวคิดว่าการรับจ้างมูฯ เป็นเรื่องที่ทำแทนกันได้ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งบริการที่ตอบโจทย์ Lazy Economy ไม่ต่างกับบริการอื่น ๆ
-แก้ Pain Point ได้
คนที่จะว่าจ้างคนอื่นไปมูฯ แทน ไม่ได้มีแค่คนที่ขี้เกียจเท่านั้น แต่เป็นการครอบคลุม Pain Point อื่น ๆ ด้วย
เช่น ไม่มีเวลาเดินทางไปด้วยตัวเอง, เดินทางลำบาก หรือมีค่าเดินทางสูง เช่น อยู่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ
รวมถึงคนที่รู้สึกกังวลใจ อยากขอพรหรือบนบานทันที
เมื่อมี Pain Point เหล่านี้เกิดขึ้น การรับจ้างมูฯ จึงช่วยเชื่อมระหว่าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับผู้มีจิตศรัทธาได้ตรงจุด แถมยังมีค่าบริการไม่สูง ทำให้ผู้ศรัทธา ยอมจ่ายเงินเพื่อรับบริการได้ไม่ยาก
แม้ทุกวันนี้คนที่ใช้บริการรับจ้างมูฯ จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม
หรือในภาษาการตลาด เรียกว่าเป็นธุรกิจที่เจาะตลาด Niche ซึ่งโฟกัสแค่กลุ่มผู้ใช้บริการของตัวเอง ที่ยินดี ให้คนอื่นไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ แทนตัวเองได้
แต่ก็มีโอกาสที่จะสามารถขยายตลาดออกไปได้อีก หากบริการเป็นที่น่าพอใจ จนลูกค้ารีวิวหลังใช้บริการดี แนะนำดี หรือนำของไปถวายแทนแล้วได้สมความปรารถนา และเกิดการบอกต่อในกลุ่มคนสายมูฯ
สุดท้ายก็ทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ หรือทำให้มีการใช้บริการซ้ำ ไม่ต่างจากธุรกิจบริการอื่น ๆ
-เทรนด์เศรษฐกิจสายมูฯ
แรงส่งสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ อานิสงส์จากเศรษฐกิจสายมูฯ ที่มาแรงแซงทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่ช่วงโรคระบาด และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งยังได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะคนรู้สึกสิ้นหวัง จนต้องหาที่พึ่งทางใจ
สังเกตได้จากสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ออกมาเป็นตัวเลือก เช่น วอลล์เพเปอร์เสริมดวง เครื่องประดับสายมูฯ บริการพรีออร์เดอร์เครื่องรางจากต่างประเทศ
ที่สำคัญ แบรนด์ต่าง ๆ ที่มีสินค้าและบริการอยู่แล้ว ก็หันมาจับการตลาดสายมูฯ (Muketing) เพื่อรับเทรนด์นี้ ก็มีให้เห็นบ่อย ๆ
เช่น แบรนด์เสื้อผ้า ที่ทำการตลาดเกี่ยวข้องกับเสื้อสีมงคล, ร้านขายทองรูปพรรณ หันมาผลิตชาร์มพระพิฆเนศวรทองคำแท้ พร้อมสร้อยข้อมือหินมงคล
การปรับตัวเหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้ระบบนิเวศของธุรกิจสายมูฯ เติบโต
เมื่อบวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภค แนวคิด สภาพสังคม และทิศทางของธุรกิจที่เปลี่ยนไปในเวลาเดียวกัน
ก็ไม่น่าแปลกใจที่ “การรับจ้างมูฯ” จะกลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจทำเงินในยุคนี้
แถมยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ตราบใดที่ยังมีคนที่ต้องการทางลัดในการส่งต่อความศรัทธา ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือ..
-----------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
-----------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.