Noburo แพลตฟอร์มคนไทย สร้างวินัยการเงิน ช่วยลดหนี้นอกระบบ ให้พนักงานออฟฟิศ
Business

Noburo แพลตฟอร์มคนไทย สร้างวินัยการเงิน ช่วยลดหนี้นอกระบบ ให้พนักงานออฟฟิศ

15 ก.ย. 2023
Noburo แพลตฟอร์มคนไทย สร้างวินัยการเงิน ช่วยลดหนี้นอกระบบ ให้พนักงานออฟฟิศ /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ปัญหาหนี้นอกระบบ” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมานาน และคนไทยหลายครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย กำลัง “ติดกับดัก” กับปัญหานี้
ปัญหาของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะผู้กู้ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เนื่องจากรายได้ที่น้อย หรือไม่แน่นอน จึงมักไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่สถาบันการเงินกำหนด หรือบางคนมีประวัติค้างชำระหนี้ จึงติดแบล็กลิสต์
ทำให้คนเหล่านี้ มีแนวโน้มวิ่งไปหาการกู้เงินนอกระบบ ทั้งที่รู้ว่าต้องเสียดอกเบี้ย สูงกว่าการกู้ในระบบหลายเท่าตัวก็ตาม
อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้ มักตกอยู่ในวังวนของหนี้ไม่รู้จบ คือ การมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ หรือขาดการวางแผนการใช้จ่ายและการกู้ยืมที่ชัดเจน จนเกิดภาระหนี้สินเกินกว่ารายได้ที่หามา
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ ก็ได้มีกลุ่มธุรกิจจำนวนหนึ่ง ที่ตั้งใจเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหานี้เช่นกัน
อย่างเช่น “Noburo” สตาร์ตอัปไทยด้านฟินเทค ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มพิชิตหนี้ ผ่านสวัสดิการแก้หนี้ให้กับพนักงาน
Noburo เข้ามาช่วยแก้ Pain Point เรื่องหนี้นอกระบบได้อย่างไร ?
และธุรกิจนี้มีโมเดลรายได้แบบไหน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Noburo ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
มีคุณดิว-ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และปัจจุบันเป็น CEO ของ Noburo
โดยคุณดิว เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Noburo หลังจากที่เธอเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว ที่ให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance)
ซึ่งการดูแลธุรกิจนี้ ทำให้คุณดิวเกิดมุมมองใหม่ว่า การปล่อยสินเชื่อให้กู้แบบนี้ มันจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้กับผู้กู้ได้อย่างยั่งยืนจริงเหรอ ? หากบางคนยังต้องกู้เงิน เพื่อไปโปะหนี้ก้อนอื่น ๆ ทั้งในระบบและนอกระบบ จนกลายเป็นการหมุนหนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น
คุณดิวจึงปิ๊งไอเดียธุรกิจ Noburo ขึ้นมา โดยมีคอนเซปต์การปล่อยสินเชื่อ ที่ผู้กู้ต้องได้รับความรู้ทางการเงินกลับไปด้วย นอกเหนือจากการได้สินเชื่อ ไปทยอยปลดภาระหนี้ที่มีอยู่
โดยเหตุผลที่คุณดิวต้องการให้ผู้กู้แต่ละคน มีความรู้-คู่กับทุน (สินเชื่อ) เพราะเธอเชื่อว่า การมีพื้นฐานความรู้ทางการเงินที่ดี จะช่วยสร้าง Mindset และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินให้ดีขึ้นได้
และอาจเป็นหนทางที่ช่วยให้พวกเขา ได้มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งในอนาคต..
แล้ว Noburo มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร ?
โมเดลธุรกิจของ Noburo เป็นแบบ B2B2C (Business to Business to Customer)
หากพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ Noburo มีลูกค้าเป็นกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ และซื้อบริการจากแพลตฟอร์มช่วยพิชิตหนี้ของ Noburo ให้กับพนักงานในบริษัท ได้เข้ามาใช้งาน
ซึ่งเหตุผลที่ Noburo มีเป้าหมายเป็นพนักงานบริษัท เพราะเป็นสเกลเริ่มต้นที่สามารถจับต้องได้ มีประวัติ และข้อมูลรายได้ของผู้กู้ (พนักงาน) ที่ชัดเจน จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้ได้
แล้วแพลตฟอร์มของ Noburo น่าสนใจอย่างไร ?
แพลตฟอร์มของ Noburo จะให้บริการสวัสดิการด้านการเงินและสินเชื่อแก่พนักงาน
และช่วยวางแผนการจัดการกับหนี้สิน โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ ที่หลายคนกำลังเผชิญ
แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า Noburo มีคอนเซปต์การปล่อยสินเชื่อ “ความรู้-คู่กับทุน”
ดังนั้น พนักงานจะเข้ามาขอเงินจาก Noburo อย่างเดียวไม่ได้
ถ้าพนักงานต้องการเงินกู้ พวกเขาก็ต้องมีวินัยในการเรียนรู้ โดยในแพลตฟอร์ม Noburo จะมีฟีเชอร์ให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มสเต็ปการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
และทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน ผ่านกลไกเกม เมื่อเล่นผ่านเงื่อนไขการทำภารกิจ จึงจะได้คะแนนสะสม ไปปลดล็อกขอสินเชื่อ เพื่อนำไปทยอยปลดหนี้สินแต่ละก้อน
นอกจากนี้ Noburo ยังมีฟีเชอร์ช่วยกระตุ้นให้พนักงาน มีแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด และปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ด้วยการเพิ่มวงเงินขอสินเชื่อ ผ่านคะแนน Noburo Score ที่พนักงานสะสมไว้
โดยคะแนนเหล่านี้ จะได้มาจากการมีวินัยในการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย, การมีวินัยในการปลดหนี้ได้ตรงตามแผน และการมีวินัยในการขยันอ่านบทความความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้เงิน
ซึ่งสุดท้าย เมื่อพนักงานคนนั้นปลดหนี้ได้สำเร็จ และเริ่มมีสถานะทางการเงินเป็นบวก Noburo ก็จะมีภารกิจต่อไปคือ การให้ความรู้ในการบริหารจัดการเงินของตนเอง และสร้างวินัยในการออมระยะยาว เพื่อวางแผนเกษียณต่อไป อีกด้วย
เรียกได้ว่า เมื่อก่อนเราอาจมองว่าการเป็นหนี้ คือการไม่มีเครดิตทางการเงินที่ดี และคงไม่มีทางเก็บออมเงินได้ เพราะเหมือนกระเป๋ารายรับ มีรูรั่วให้เงินไหลออกอยู่ตลอด
แต่ Noburo ตั้งใจทำให้เห็นว่า คนเราสามารถเปลี่ยนแปลง และเริ่มสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีใหม่ได้ ด้วยการค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับกระบวนการคิด และปลูกฝังวินัยทางการเงิน
เพื่อที่สุดท้าย คนเหล่านั้นจะได้เข้าใกล้คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” มากขึ้น นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม โมเดลธุรกิจของ Noburo ยังกลายเป็นมุมสะท้อนให้เห็นอีกว่า องค์กรที่เข้าใจถึงจิตใจของพนักงาน ที่มีปัญหาด้านการเงิน และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ Win-Win กับทุกฝ่ายได้
เพราะหากพนักงานมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง มีปากท้องที่อิ่ม และหายกังวลเรื่องหนี้สิน
พวกเขาก็ย่อมมีกำลังใจในการทำงาน และอยากตอบแทนบริษัท ด้วยการทำงานอย่างเต็มที่เช่นกัน
-----------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA
-----------------------------------------
References:
-https://www.noburo.co/aboutus
-Wealth me up : FIN FIN EP. 23
-https://www.noburo.co/post
-https://www.noburo.co/employees
-https://www.noburo.co/missionloan
-https://award.nia.or.th/th/award-winner/2507
-TEDxCharoenkrung ตอน สร้างอิสรภาพทางการเงินด้วยความเข้าใจ โดย ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล
-BOT Policy Hackathon Presentation - Noburo
-Digital Start up Solution Noburo
-https://www.noburo.co/post/noburo-x-food-passion
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.